นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 180.21 ลดลงร้อยละ 0.90 จากระดับ 181.84 ดัชนีผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 183.84 ลดลงร้อยละ 1.40 จากระดับ 186.46 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 177.40 ลดลงร้อยละ 4.15 จากระดับ 185.07 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 116.06 ลดลงร้อยละ 2.96 จากระดับ 119.53 ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 135.82 ลดลง -2.11 จากระดับ 138.75 ขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 210.54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.71 จากระดับ 190.18 ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 187.74 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.48 จากระดับ 173.07 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 60.80
ทั้งนี้ ตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 0.90 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2550 เป็นตัวเลขติดลบครั้งแรกในรอบปี 2551 ซึ่งถือว่าปัจจัยแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในเริ่มส่งผลต่อภาคการผลิตอย่างชัดเจน
สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวม ได้แก่ เครื่องประดับเพชรพลอย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเหล็ก สำหรับเครื่องประดับเพชรพลอย เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีการผลิตลดลงร้อยละ 34.8 โดยเป็นผลมาจากตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกามีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้สินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัด จึงส่งผลต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้อย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ปัจจัยความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ผันผวนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเริ่มที่จะหันไปเปิดตลาดใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง รวมทั้งการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อเกิดพลัง สำหรับการประคองธุรกิจในยามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นทุกวันนี้
ขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนพบว่า ทั้งการผลิตและจำหน่ายลดลง ใกล้เคียงกัน คือ ลดลงร้อยละ 10 โดยสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน และเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราการผลิตและจำหน่ายอย่างคึกคัก ทำให้ตัวเลขฐานการคำนวณสูงจึงส่งผลต่อการลดลงที่ชัดเจนในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ได้มีการปรับตัว โดยการเปิดตลาดใหม่ รวมทั้งเจรจาขอเพิ่มสัดส่วนออร์เดอร์จากลูกค้าหลักให้สูงขึ้น เพื่อเป็นการพยุงสถานการณ์ ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถฝ่าผ่านสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้ในที่สุด
ขณะที่การผลิตเหล็ก เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าสัดส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลังต่อการจำหน่ายในผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศที่ชะลอลง โดยผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดนั้นมาจากภาคธุรกิจการก่อสร้างไม่มีความคึกคัก และยังไม่สามารถคาดหวังกับการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลได้
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะชะลอตัว จากปัจจัยลบทั้งภายในและนอกประเทศ แต่สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนให้ภาพรวมดัชนีอุตสาหกรรมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงบ้าง ก็คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Hard Disk Drive) เสื้อผ้าสำเร็จรูป และอุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้