ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองการเมืองเป็นความเสี่ยงศก.ไทยในวงกว้าง-ส่อซบเซา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 2, 2008 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า การที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 แห่ง ทั้งสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (Standard & Poor’s: S&P) และ ฟิทช์ เรทติงส์ (Fitch Ratings) ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยสู่ 'เชิงลบ'จากเดิม 'มีเสถียรภาพ' ได้ให้น้ำหนักไปที่ผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งอาจกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนพื้นฐานทางเครดิตของประเทศได้ในระยะถัดไป

ปัจจัยทางการเมืองเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในรอบนี้มีความแตกต่างไปจากวิกฤตต้มยำกุ้งในรอบก่อนหน้า เนื่องจากครั้งก่อนสาเหตุสำคัญ คือ ปัญหาในภาคสถาบันการเงินของไทย ซึ่งประกอบเข้ากับความอ่อนแอของภาคต่างประเทศ ที่มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน ตลอดจนการทะยานขึ้นอย่างมากของหนี้ระยะสั้น ขณะที่ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเพียงปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้นเท่านั้น

แต่ในรอบนี้มีสาเหตุหลักมาจากความยืดเยื้อของปัญหาทางการเมืองในประเทศ ซึ่งได้เพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2551 เป็นต้นมา ซึ่งความไร้เสถียรภาพทางการเมืองนั้นอาจกลายเป็นประเด็นหลักที่ทำให้พื้นฐานทางเครดิตของประเทศถดถอยลง พร้อมๆ ไปกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในท้ายที่สุดก็อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในระยะถัดไป

เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในระยะถัดไป คือ ฐานะของภาคต่างประเทศ ทั้งการส่งออก ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการชำระเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน ตลอดจนฐานะทางการคลังของรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าเครื่องชี้เหล่านี้จะยังไม่ส่งสัญญาณของปัญหาออกมาในเวลานี้ แต่สภาวะแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น ก็อาจทำให้ความอ่อนแอของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจเหล่านี้เริ่มปรากฎเด่นชัดมากขึ้นในระยะถัดไป

นอกจากจะต้องรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลก เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังต้องเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งได้กลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังส่งผลบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน พร้อมๆ ไปกับพื้นฐานทางเครดิตของประเทศ

ในเวลานี้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศต่างก็จับตาดูพัฒนาการของปัญหาทางการเมืองของไทยเป็นพิเศษ เนื่องจากสถานการณ์ที่ยืดเยื้อและ/หรือบานปลายนั้น อาจส่งผลต่อเนื่องทำให้ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงขยายออกไปในวงกว้าง ซึ่งนั้นก็จะทำให้แนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยอ่อนแอลงมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อท่ามกลางแนวโน้มชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก อาจทำให้ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทยต้องรับมือกับโจทย์หนักจากปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุมและหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแนวโน้มการชะลอตัวของภาคส่งออกและความผันผวนของตลาดการเงิน

โจทย์หนักจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศนั้น อาจส่งผลทำให้การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไทยขาดประสิทธิผลที่ชัดเจน เมื่อประเด็นเรื่อง “ความเสี่ยงทางการเมือง" อาจกลายมาเป็นปัจจัยหลักที่กำหนด “ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย" โดยความต่อเนื่องของนโยบายการคลังอาจต้องประสบกับภาวะชะงักงัน เนื่องจากแม้ว่ารัฐบาลอาจจำต้องแบกรับภาระการขาดดุลการคลังที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เพื่อดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็อาจยังประสบกับปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณหากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศยังคงไม่นิ่ง

ในขณะที่กลไกการส่งผ่านผลของสภาวะที่ผ่อนคลายของนโยบายการเงินอาจไม่สามารถแผ่ขยายไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงเท่าที่ควร เนื่องจากสถาบันการเงินต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากความเสี่ยงในการปล่อยกู้ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินยังมีต้นทุนจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษและตราสารทางการเงินเพื่อระดมสภาพคล่องในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การระดมสภาพคล่องเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเพียงพอสำหรับรองรับการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในภาวะความเสี่ยงสูงเช่นปัจจุบัน อาจทำให้เป็นการยากที่สถาบันการเงินจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยจำต้องตกเข้าสู่ภาวะที่ซบเซายาวนาน ซึ่งนั่นก็ย่อมจะหมายถึงโจทย์ที่หนักมากยิ่งขึ้นของทางการไทยในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ