"จีเอ็ม-ไครสเลอร์"ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ขู่ยื่นล้มละลายหากรัฐบาลสหรัฐเมินช่วยเหลือ

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 4, 2008 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าววงในของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และ ไครสเลอร์ เปิดเผยว่า ผู้บริหารจีเอ็มและไครสเลอร์กำลังพิจารณายื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลาย ซึ่งถือเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้ายในการเรียกร้องขอความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์จากรัฐบาลสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ ริค วาโกเนอร์ ซีอีโอจีเอ็มเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะตกต่ำจนถึงกับล่มสลาย หากรัฐบาลสหรัฐปล่อยให้อุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศล้มละลาย อีกทั้งจะส่งผลให้มีคนตกงานกว่า 3 ล้านคนภายในปีแรก จากนั้นรายได้ส่วนบุคคลจะร่วงลงอย่างน้อย 1.50 แสนล้านดอลลาร์ และรัฐบาลจะต้องสูญรายได้จากภาษีถึง 1.56 แสนล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 3 ปี สถานการณ์ดังกล่าวจะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยรุนแรงกว่าที่คาดคิด

จีเอ็ม ฟอร์ด และไครสเลอร์ ได้ยื่นขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางสหรัฐรวมกันทั้งสิ้น 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่เคยขอไป 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยจีเอ็มพยายามขอความช่วยเหลือเป็นเงิน 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ฟอร์ด ขอเงินกู้ 9 พันล้านดอลลาร์ และไครสเลอร์ต้องการเงินกู้ 7 พันล้านดอลลาร์ ก่อนสิ้นปีนี้

อลัน โกเวอร์ นักวิเคราะห์จากไวท์ แอนด์ เคส กล่าวว่า "เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่สภาคองเกรสจะต้องเร่งตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน (due diligence) ของบริษัทรถยนต์ภายในประเทศ มิฉะนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์อาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปล่อยให้บริษัทล้มละลาย"

แหล่งข่าวระบุว่า การหารือกันเพื่อหาทางออกอันหลากหลายให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐมีขึ้นแทบจะทุกแวดวงในสหรัฐ รวมถึงบริษัทเอกชน สถาบันการเงิน สหภาพ และบริษัทที่สนใจจะเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว

ด้านนางแนนซี เพโลซี โฆษกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกล่าวว่า เธอมั่นใจว่าสภาผู้แทนฯและคณะทำงานของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จะให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ เพราะต่างก็มีมุมมองที่เหมือนกันว่า "การปล่อยให้อุตสาหกรรมรถยนต์ล้มละลายไม่ใช่ทางออกที่ดี"

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และหุ้นไครสเลอร์ ลงสู่ระดับ "non-investment" หรือ ระดับ "ขยะ" พร้อมกับให้แนวโน้มความน่าเชื่อถือของค่ายรถยนต์ทั้งกลุ่มบิ๊กทรีเป็น "เชิงลบ" หลังจากบริษัทรถยนต์ทั้ง 3 แห่งดิ้นรนขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐบาลสหรัฐ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าอันดับเครดิตของบริษัททั้งสามอาจถูกปรับลดลงอีก สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ