ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเงินบาทในประเทศ (Onshore) ในสัปดาห์หน้า (8-12 ธ.ค.)อาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 35.60-35.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ควรจับตา ประกอบด้วย ปัจจัยการเมืองในประเทศ ทิศทางสกุลเงินในภูมิภาค
ตลอดจนทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนความช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) ข้อมูลสต็อกสินค้าภาคค้าส่งและภาคธุรกิจ ดุลการค้าเดือนตุลาคม ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาสินค้าส่งออก-นำเข้าเดือนพฤศจิกายน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ จัดทำโดยรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนเดือนธันวาคม
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 22 เดือนที่ 35.83 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางปัญหาการเมืองในประเทศที่รุนแรงขึ้น ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยสู่ 'เชิงลบ' จากเดิม 'มีเสถียรภาพ'
อย่างไรก็ตาม เงินบาทได้ฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นและลดช่วงติดลบลงบางส่วนในช่วงต่อมา โดยได้รับแรงหนุนจากแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อทำกำไรของนักลงทุนและจากปัญหาทางการเมืองที่ได้คลี่คลายลงบางส่วนหลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคการเมืองและการสลายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม
เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากที่ กนง.สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 1.00% ลงสู่ระดับ 2.75% ในการประชุมวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่ มีแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ จากนักลงทุนและผู้นำเข้าเพิ่มเติมเข้ามาในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน สำหรับในวันพฤหัสบดี เงินบาทขยับอ่อนค่ามายืนที่ระดับประมาณ 35.74 (ตลาดเอเชีย) เทียบกับระดับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (28 พ.ย.)