"โอบามา"ลั่นใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จวกมาตรการ"บุช"ไม่แข็งพอเยียวยาเศรษฐกิจ

ข่าวต่างประเทศ Monday December 8, 2008 09:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะทรุดตัวลงในระดับที่รุนแรงที่สุด ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้น พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ "ไม่เกินตัว" เพื่อหลายฝ่ายจะไม่ต้องวิตกกังวลว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณจะพุ่งสูงขึ้นในระยะสั้น

โอบามากล่าวให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ NBC ในวันนี้ว่า "ผมให้ความสำคัญในลำดับต้นๆกับการรับมือกับตัวเลขว่างงาน, ภาวะตลาดสินเชื่อชะงักงัน, ราคาบ้านตกต่ำ และทุกสัญญาณที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เราต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้นั้น มีศักยภาพสูงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ แม้จะมีการประเมินว่างบประมาณของรัฐบาลสหรัฐจะขาดดุลอยู่ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่หากเราใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่เกินตัว ก็ไม่น่าจะต้องเผชิญกับความกังวลในเรื่องนี้"

เศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณให้เห็นถึงภาวะชะลอตัวมานับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 4 พ.ย. โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานสหรัฐประจำเดือนพ.ย.ทำสถิติดิ่งลงหนักที่สุดในรอบ 34 ปีที่ระดับ 533,000 ตำแหน่ง และร่วงลงแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 320,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานในเดือนพ.ย.พุ่งขึ้นแตะที่ 6.7% จากระดับ 6.5% เมื่อเดือนต.ค.

"เศรษฐกิจจะดิ่งลงจนถึงระดับต่ำสุดก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้น และผมคาดว่าภาวะถดถอยจะลุกลามไปยังทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ" โอบามากล่าวกับ NBC

โอบามายังกล่าวด้วยว่า "ทีมเศรษฐกิจของผมกำลังทำงานร่วมกันในเรื่องแผนกู้วิกฤตการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ไม่ได้ใช้มาตรการที่มีศักยภาพสูงพอที่จะเยียวยาตลาดอสังหาริมทรัพย์และลดจำนวนบ้านที่ถูกยึด แม้รัฐบาลชุดที่แล้วจะทำไม่สำเร็จ แต่ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขในรัฐบาลของผม ผมจะผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวขึ้นและจะทำทุกอย่างเพื่อให้สหรัฐสามารถกลับมาแข่งขันในตลาดโลกได้ ท่านจะได้เห็นสหรัฐอเมริกาที่แข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นมา"

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวและสภาคองเกรสได้อนุมัติเงินช่วยเหลือฉุกเฉินจำนวน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่ค่ายรถ "บิ๊กทรี" ของสหรัฐ ซึ่งได้แก่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป, ฟอร์ด มอเตอร์ โค และ ไครสเลอร์ แอลแอลซี หลังจากผู้บริหารระดับสูงของทั้งสามบริษัทเรียกร้องให้สภาคองเกรสใช้เงินจากกองทุนสาธารณะมาช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ให้รอดพ้นจากภาวะล้มละลาย อย่างไรก็ตาม เงินจำนวนดังกล่าว แต่ยังคงต่ำกว่าที่ค่ายรถทั้งสามเรียกร้องมาทั้งสิ้น 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม ต้องการเงินช่วยเหลือ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ฟอร์ดต้องการเงิน 9 พันล้านดอลลาร์ ส่วนไครสเลอร์เรียกร้องเงินช่วยเหลือจำนวน 7 พันล้านดอลลาร์ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ