นายประชา พรหมนอก รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วง 11 เดือนปีนี้(ม.ค.-พ.ย.) มียอดโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 1,198 โครงการ เพิ่มขึ้น 2.8%จากช่วงเดียวกันปี 2550 ที่มีจำนวน 1,165 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 436,000 ล้านบาท ลดลงประมาณ 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 586,000 ล้านบาท
โดยอุตสาหกรรมที่นักลงทุนให้ความสนใจขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการ และสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
"แม้มูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่ามูลค่าเงินลงทุนปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยหากพิจารณาที่จำนวนโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนยังมีทิศทางที่ดีและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังคงให้ความสนใจเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย" รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
สำหรับการเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันบีโอไอสามารถพิจารณาส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่คั่งค้างตั้งแต่ช่วงกลางปีได้แล้วจำนวนมาก โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา(ต.ค.-พ.ย.51) มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วถึง 358 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 159,825 ล้านบาท และหากรวมจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับการอนุมัติในการประชุมบอร์ดในวันนี้จะทำให้มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมทั้งสิ้น 368 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 216,170 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนที่รอการพิจารณาให้การส่งเสริมอีก 253 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 190,256 ล้านบาท
ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่ารวม 290,000 ล้านบาท ปรับลดลงประมาณ 63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 473,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด มีมูลค่าลงทุนรวม 97,000 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มยุโรป มีมูลค่ารวม 64,000 ล้านบาท และสิงคโปร์มีมูลค่ารวม 38,000 ล้านบาท เป็นต้น
สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว เช่น Western Digital มูลค่าเงินลงทุน 15,260 ล้านบาท, โกลว์ พลังงาน มูลค่าเงินลงทุน 16,896 ล้านบาท, บมจ.การบินไทย(THAI) มูลค่าเงินลงทุน 17,622 ล้านบาท, ทิพากรโซล่า มูลค่าเงินลงทุน 6,500 ล้านบาท, กรุงเทพซินธิติกส์ มูลค่าเงินลงทุน 6,089 ล้านบาท และสยามโตโยต้าอุตสาหกรรม มูลค่าเงินลงทุน 8,129 ล้านบาท เป็นต้น