(เพิ่มเติม2) สภาพัฒน์แถลง GDP Q4/51 ม.ค.,คาดปิดสนามบินทำว่างงานปี 52 พุ่งเกิน 9 แสนคน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 8, 2008 12:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ระบุว่า สภาพัฒน์จะมีการแถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 4/51 เร็วขึ้นกว่ากำหนดปกติในเดือนก.พ.52 มาเป็นเดือน ม.ค.52 โดยจะมีการประเมินปัจจัยสำคัญที่เข้ามาเพิ่มเติม คือผลกระทบจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจากกรณีดังกล่าวอาจจะทำให้จำนวนผู้ว่างงานในปี 52 เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 9 แสนคน เพราะยังไม่รวมแรงงานด้านการท่องเที่ยวที่อาจจะว่างงานเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการปิดสนามบิน ซึ่งจะต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4/51

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวยอมรับว่า จากเหตุการณ์ปิดสนามบินทั้ง 2 แห่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและภาคท่องเที่ยวของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากยอดนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงทันที แต่เชื่อว่าหากมีส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น จะช่วยทดแทน และกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น และจะช่วยลดผลกระทบได้ โดยที่ผ่านมาช่วงไตรมาส2-ไตรมาส 3/51 ภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตได้ดี

"จากเหตุการณ์ปิดสนามบิน ภาคการท่องเที่ยวกระทบแน่ แต่ในส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ยังถือว่า มีการกระตุ้นที่ดี จากแหล่งท่องเที่ยวของไทย ที่มีชื่อเสียง เราสามารถทดแทนด้วยการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการจ้างงานได้" นางสุวรรณีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สภาพัฒน์ก็คาดการณ์ว่าการว่างงานก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่แล้วจากผลกระทบของวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่อุตสาหกรรมการส่งออก รับผลจากคำสั่งซื้อที่ลดลง การชะลอการผลิตและการลงทุนใหม่ ซึ่งจะทำให้ผู้จบการศึกษาใหม่ในปี 52 หางานได้ยากขึ้น

ดังนั้น สภาพัฒน์จึงคาดว่าในปี 52 จะมีจำนวนการว่างงานมากขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 5-6 แสนคน เพิ่มเป็น 9 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 2.0-2.5% จากสมมติฐานะคาดการณ์เศรษฐกิจปี 51-52 ตามที่ได้ประกาศไว้ โดยปี 51 คาดว่า GDP จะขยายตัว 4.5% ส่วนปี 52 จะขยายตัวอยู่ที่ 3-4%

นางสุวรรณี เชื่อว่า รัฐบาลใหม่จะผ่านกระบวนการพิจารณางบประมาณกลางปี 52 มูลค่า 1 แสนล้านบาทที่ได้อนุมัติในหลักการจากรัฐบาลปัจจุบันไปแล้ว ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนให้มากขึ้น และลดผลกระทบจากการว่างงานให้น้อยลง

"จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าในปี 52 จะมีคนตกงานเพิ่มขึ้น 5-6 แสนคน จากสมมติฐานว่าภาคเกษตรกรรมขยายตัวดีจนสามารถรองรับแรงงานบางส่วนได้ จีดีพีปี 52 โต 3-4% ซึ่งอัตราการว่างงานจะต่ำกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 41 ซึ่งมีผู้ว่างงานมากถึง 1.4 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 4.4%" นางสุวรรณี ระบุ

สำหรับมาตรการที่มองว่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงาน คือ การประสานกับผู้ประกอบการเพื่อหาวิธีชะลอการเลิกจ้าง หาตำแหน่งงานว่างรองรับ การแนะแนว และการฝึกอาชีพให้แก่แรงงาน, สำหรับผู้ที่กำลังจบการศึกษา ให้มีการฝึกงานและอบรมทักษะที่สามารถใช้ร่วมกับงาน ทั้งสนับสนุนให้ศึกษาต่อในสาขาที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน, มีมาตรการเสริมสำหรับ SMEs ในการปรับปรุงประสิทธิภาพและสภาพคล่องเพื่อให้ประคองตัวอยู่ได้, การส่งเสริมอาชีพในชนบททั้งภาคเกษตรและอาชีพอิสระเพื่อรองรับแรงงานกลับสู่ภูมิลำเนา

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า ภาวะสังคมในช่วงไตรมาส 3/51 การจ้างงานโดยรวมยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีอัตราการว่างงานต่ำ โดยมีผู้มีงานทำ 37.84 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7 แสนคน คิดเป็น 1.9% โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 4.5 แสนคน อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 1.2%

แม้ว่าการจ้างงานโดยรวมยังเพิ่มขึ้น แต่มีสัญญาณการชะลอตัวในบางภาคการผลิต โดยเฉพาะการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิต ลดลง 6.5% ต่อเนื่องจากไตรมาส 2/51 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนย้ายแรงสู่ภาคเกษตรมากขึ้น เนื่องจากราคาพืชผลทางทางการเกษตรที่สูงขึ้นมาก เป็นแรงจูงใจให้เกิดการขยายกำลังการผลิตมากขึ้น

ส่วนการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ที่ชะลอตัวทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 8,700 คนในไตรมาส 3/51 แต่อัตราการว่างงานโดยรวม ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.2% หรือคิดเป็น 4.5 แสนคน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ