ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทหลายแห่งได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐว่าอาจต้องเผชิญแรงกดดันในการปรับลดพนักงานลงอีกเป็นจำนวนมาก แม้ว่าสภาคองเกรสและทำเนียบขาวจะอนุมัติเงินจำนวน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือค่ายรถ "บิ๊กทรี" ซึ่งประกอบด้วยเจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป หรือจีเอ็ม, ฟอร์ด มอเตอร์ โค และไครสเลอร์ แอลแอลซี หลังจากที่ทั้งสามได้เรียกร้องเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลทั้งสิ้น 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
พอล บอลลูว์ ผู้เชี่ยวชาญจากเนชั่นไวด์ มูชวล อินชัวรันซ์ โค กล่าวกับบลูมเบิร์กว่า ขณะที่รัฐบาลเจียดเงินช่วยเหลือค่ายรถทั้งสามนี้แล้ว แต่การจ้างงานที่ลดลงอาจบั่นทอนเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วให้ยิ่งเลวร้ายลงอีก หลังจากที่บริษัทรถยนต์ได้ปลดพนักงานไปแล้วกว่า 100,000 ตำแหน่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ด้านนักวิเคราะห์จากบริษัทแกรนท์ ธอร์นตัน แอลแอลพี กล่าวว่า ในบางครั้งบริษัทที่ประสบปัญหาต้องยอมตัดเนื้อร้ายเพื่อรักษาชีวิตทั้งหมดเอาไว้ด้วยวิธีต่างๆเช่นการปิดโรงงาน ปิดแบรนด์สำคัญ และหนักที่สุดคือต้องปรับลดพนักงาน
ขณะเดียวกัน ค่ายรถต่างๆมองว่าทางเลือกดังกล่าวจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ และการปล่อยให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งล้มละลายลงไปอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทอื่นๆ ซึ่งขณะนี้จีเอ็มต้องใช้เงิน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อประคับประคองบริษัทให้อยู่รอดไปให้ถึงสิ้นปี นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าอาจต้องปรับลดพนักงานลงอย่างมากอีก 33% หรือ 30,000 ตำแหน่งในปี 2555
ทั้งนี้ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์กล่าวว่า เงินช่วยเหลือจำนวน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐที่ได้มีการอนุมัติไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาอาจช่วยต่อลมหายใจอุตสาหกรรมรถได้ไม่มากนัก พร้อมทั้งคาดว่ายอดขายรถของสหรัฐในปีนี้จะอยู่ที่ 13.3 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายในอีก 4 ปีข้างหน้าอาจไม่ถึง 13 ล้านคันต่อปี