พรรคเดโมแครตซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสสหรัฐ ได้ยื่นร่างมาตรการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นแก่อุตสาหกรรมรถยนต์ในวงเงินมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เพื่อลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมาย และคาดว่าจะมีการลงมติในสัปดาห์นี้
มาตรการดังกล่าวซึ่งรายงานโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กนั้น ครอบคลุมถึงการที่ประธานาธิบดีบุชจะต้องแต่งตั้งบุคคลหรือคณะกรรมการเข้ามาดูแลการปรับโครงสร้างระยะยาวในอุตสาหกรรมรถยนต์สำหรับบริษัทรถยนต์ที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการสรุปเรื่องรายละเอียดในขั้นตอนสุดท้ายเนื่องจากทางทำเนียบขาวไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดทั้งหมดในร่างมาตรการฉบับนี้
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม), ฟอร์ด มอเตอร์ และไครสเลอร์ แอลแอลซี มีคุณสมบัติมากพอที่จะยื่นขอเงินกู้ได้ โดยจีเอ็มและไครสเลอร์ต้องการเงินทุนรวมกันอย่างน้อย 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้จนถึงเดือนมี.ค.ปีหน้า
อย่างไรก็ตาม บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐเปิดเผยว่า บริษัทยังไม่ต้องการยื่นขอเงินกู้แบบเฉพาะกาล (bridge loan) ระยะสั้นจากรัฐบาลสหรัฐ เนื่องจากบริษัทมีสภาพคล่องหมุนเวียนมากพอในระยะใกล้นี้
"ตามที่เราได้แจ้งให้สภาคองเกรสทราบแล้วว่า ฟอร์ดอยู่ในสถานะที่แตกต่างจากบริษัทอื่นๆในค่ายรถยนต์กลุ่มบิ๊กทรี เรามีสภาพคล่องหมุนเวียนมากพอในระยะใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม ฟอร์ดสนับสนุนให้รัฐบาลช่วยเหลือไครสเลอร์และเจนเนอรัล มอเตอร์ เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์จำเป็นต้องพึ่งพากันและกัน หากบริษัทใดบริษัทหนึ่งมีปัญหาก็จะส่งผลกระทบทั้งระบบ" ฟอร์ดกล่าวในแถลงการณ์
นางแนนซี เพโลซี โฆษกสภาคองเกรสกล่าวว่า สภาคองเกรสอาจโหวตมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ โดยบริษัทรถยนต์จะต้องชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจนถึงความจำเป็นในการขอเงินกู้ ซึ่งหากบริษัทใดที่ไม่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดเรื่องการปรับโครงสร้าง ก็จะไม่สามารถยื่นขอเงินกู้ได้
ภายใต้มาตรการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ บริษัทรถยนต์จะต้องจำกัดการใช้จ่ายและเงินโบนัส อีกทั้งยุติการซื้อหรือเช่าเครื่องบินโดยสาร
ข่าวความคืบหน้าเรื่องการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นนิวยอร์กพุ่งขึ้นเกือบ 300 จุดเมื่อคืนนี้ โดยหุ้นจีเอ็มปิดบวก 21% และหุ้นฟอร์ดปิดพุ่งขึ้น 24.2%