อลัน กรีนเบิร์ก อดีตซีอีโอวาณิชธนกิจแบร์ สเติร์นส ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงวอลล์สตรีทมานานกว่า 60 ปี กล่าวแสดงความเห็นว่า รูปแบบของธุรกิจประเภทวาณิชธนกิจที่เขาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกนั้น "ได้จบสิ้นลงแล้ว" เพราะธุรกิจรูปแบบนี้ไม่อาจต้านทานกระแสข่าวลือที่โหมกระหน่ำในยุคโลกาภิวัฒน์ได้
แบร์ สเติร์นส์ อดีตวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ เผชิญมรสุมข่าวลือที่แพร่สะพัดในตลาดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ลูกค้าแห่ถอนเงินออกจากแบร์ สเติร์นส์จำนวนมาก ผลพวงที่ตามาคือแบร์ สเติร์นส์ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และที่สาหัสกว่าคือบรรดาสถาบันการเงินเจ้าหนี้ตัดสินใจปล่อยให้แบร์ สเติร์นส์ ล้มละลายไปต่อหน้าต่อตา
ในช่วงเวลานั้น กรีนเบิร์กตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการขายกิจการให้เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค หนึ่งในวาณิชธนกิจที่ได้รับการยอมรับว่ามีงบดุลที่แข็งแกร่งในสุดในตลาดวอลล์สตรีท ส่งผลให้ความเป็นอิสระของแบร์ สเติร์นส์สิ้นสุดลงทันที และก่อนหน้าที่ แบร์ สเติร์นส์ จะขายกิจการให้เจพีมอร์แกนนั้น แบร์ สเติร์นส์ได้ยื่นขอวงเงินกู้ฉุกเฉินจากเฟดสาขานิวยอร์ก จนทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วตลาดวอลล์สตรีท
กรีนเบิร์กกล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า วาณิชธนกิจซึ่งเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูและเป็นหน้าเป็นตาของตลาดวอลล์สตรีทได้จบสิ้นลงแล้ว นับตั้งแต่จากการขายกิจการของแบร์ สเติร์นส์, การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส, เมอร์ริล ลินช์ ขายกิจการให้แบงค์ ออฟ อเมริกา และมอร์แกน สแตนลีย์-โกลด์แมน แซคส์ หลบหลีกวิกฤติเศรษฐกิจด้วยการเปลี่ยนสถานะตัวเองเป็นบริษัทโฮลดิ้งธนาคาร
"เมื่อข่าวลือถูกกุขึ้นมาและแพร่สะพัดจนกลายเป็นคำพยากรณ์ที่นักลงทุนคาดว่าจะเป็นไปตามคำทำนายนั้น ผลก็คือประชาชนเชื่อว่าข่าวนั้นเป็นความจริง สิ่งที่ตามมาคือการล้มครืนของวาณิชธนกิจที่เคยมีบทบาทเสมือนเป็นเสาเอกของวอลล์สตรีท" กรีนเบิร์กล่าว
เจพีมอร์แกนยังคงว่าจ้างกรีนเบิร์กในฐานะรองประธานกิติมศักดิ์ โดยกรีนเบิร์กคุมบังเหียนแบร์ สเติร์นส์ในฐานะซีอีโอตั้งแต่ปีพ.ศ.2521 จนกระทั่ง เจมส์ เคน เข้ามารับหน้าที่แทนในปีพ.ศ.2536