ศูนย์วิจัยกสิกร คาดตลาดรถยนต์ในประเทศปี 52 หดตัวต่อเนื่อง 5.8-12.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 9, 2008 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปีหน้าจะอยู่ระหว่าง 540,000 ถึง 580,000 คัน หรือหดตัวร้อยละ 5.8 ถึง 12.3 ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลสะท้อนมาสู่เศรษฐกิจไทย และสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่อาจคาดเดาได้ในขณะนี้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

จากทิศทางยอดขายรถยนต์โดยรวมปี 51 ที่น่าจะเห็นการหดตัวลง โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศตลอดทั้งปีจะมีจำนวนประมาณ 615,875 คัน ลดลงประมาณร้อยละ 2.4 จากปี 50 เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ปี 49

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยอดขายจะหดตัวลงค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 52 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความรุนแรง อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวน่าจะเริ่มเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยก้าวผ่านช่วงจุดต่ำสุดไปแล้ว ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในครึ่งหลังของปี 51 อาจจะทำให้ยอดขายรถยนต์ในครึ่งหลังของปี 52 ขยายตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก

หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปีหน้าจะลดลงต่ำกว่า 600,000 คัน และผู้ประกอบการบางรายได้ออกมาคาดว่าอาจจะลดลงต่ำถึง 580,000 คัน ทำให้เห็นว่าทิศทางยอดขายรถยนต์ในปีหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง เป็นมาจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ผลกระทบจากวิกฤติการเงินในสหรัฐที่จะปรากฏผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้นรวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้ง 2 ปัจจัยนี้นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม และส่งผลต่อเนื่องมายังตลาดรถยนต์ภายในประเทศด้วย นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ถ้าพิจารณาถึงแนวโน้มราคาพืชผลทางการเกษตร

สำหรับระดับราคาเฉลี่ยในปี 52 จะมีแนวโน้มลดลงจากปี 51 ทำให้รายได้เกษตรกรมีแนวโน้มที่จะลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าอย่างที่หลายฝ่ายออกมาคาดกัน เชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ในประเทศก็ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนที่อาจจะช่วยส่งเสริมยอดขายให้ปรับตัวดีขึ้นได้เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ปัจจัยบวกที่สำคัญ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินคาดว่าจะอยู่ในช่วงขาลงหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหนือความคาดหมายของตลาด โดยลดลงถึงร้อยละ 1 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ซึ่งคาดว่าธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับลดดอกเบี้ยลงตามมา และยังมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับลดลงได้อีกภายใต้ทิศทางเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้หากราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำดังเช่นปัจจุบันไปอย่างต่อเนื่องหรือปรับขึ้นไม่มากนัก ก็อาจช่วยให้ผู้บริโภคลดความกังวลด้านราคาน้ำมันลง รวมถึงมาตรการต่างๆของภาครัฐที่จะออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือด้านราคาพืชผลการเกษตรสำหรับเกษตรกร ขณะเดียวกันการทำตลาดของค่ายรถต่างๆเพื่อกระตุ้นยอดขายซึ่งคาดว่าจะมีออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในประเทศได้บ้างโดยรวมแล้ว



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ