KBANK มั่นใจสินเชื่อ SME ปีหน้าโต 13% พอร์ตเพิ่มเป็น 3.9 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 10, 2008 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ในปี 2552 ธนาคารคาดว่าสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)จะเพิ่มอีก 13% หรือมีขนาดสินเชื่อ 3.9 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่ 3.45 แสนล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 15% จากปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขนาดสินเชื่อในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มสูงขึ้นในปี 2551 แต่ยังน้อยกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ที่ 18-20% เนื่องจากมีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยแต่โดยทั่วไปธนาคารมีการอนุมัติสินเชื่อประมาณ 70% ของการขอสินเชื่อทั้งหมด

ทั้งนี้ ธนาคารยังมั่นใจว่าธุรกิจ SME ยังคงเติบโตในปี 2552 เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศยังเติบโตได้ดีและจากการที่เศรษฐกิจถดถอยประชาชนได้รับกระทบในการทำงานอาจมีผู้หันมาทำธุรกิจส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ธนาคารยอมรับว่ามีการติดตามในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม อาทิ สิ่งทอ รองเท้า อาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกถดถอย โดยธุรกิจกลุ่มนี้มีประมาณ 20% ของขนาดสินเชื่อธนาคาร ทั้งนี้ ยังไม่พบปัญหาของธุรกิจจนกระทั่งส่งผลต่อการผ่อนชำระสินเชื่อ

โดยปัจจุบันหนี้เสียของบริษัทยังอยู่ที่ 2% และหนี้เสียสุทธิยังอยู่ที่ 0.5% เท่าเดิมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่น่ากังวลแต่อย่างใดและเชื่อว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มปรับลดดอกเบี้ยและธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เริ่มปรับลดดอกเบี้ยเชื่อว่าจะลดภาระของผู้ประกอบการได้ลงบ้าง และคาดว่าในช่วงต้นปี 2552 ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาลดดอกเบี้ยอีกครั้ง

นอกจากนี้ การที่มีรัฐบาลใหม่จะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้โดยหวังว่ารัฐบาลจะเร่งใช้จ่ายและแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมโดยคาดว่าสินเชื่อของธนาคารทั้งหมดธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคิดเป็น 40% ของสินเชื่อทั้งหมด และยังบุกในธุรกิขขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างต่อเนื่องอย่างเช่นที่ผ่านมา และเป็นจุดแข็งของธนาคารรวมทั้งสินเชื่อ SME ยังเป็นส่วนที่สร้างรายได้ในกับธนาคารและคาดว่าปี 2552 รายได้จากค่าธรรมเนียมจะเติบโตถึง 50%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ