นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยว่า ไทยอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนที่ประเทศไทยจะกลับมามีแนวโน้มเครดิตในระดับที่มีเสถียรภาพ(Stable Outlook) หลังจากสถาบันอันดับเครดิตระดับโลก 5 แห่งปรับลดแนวโน้มเครดิตไปในช่วงก่อนหน้านี้
ดังนั้น ในช่วงที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะเข้ามาประเมินเครดิตของประเทศครั้งต่อไปในช่วงไตรมาส 1/52 รัฐบาลจะต้องใช้โอกาสนี้ชี้แจงทำความเข้าใจกับบริษัทจัดอันดับเครดิต
บริษัทจัดอันดับเครดิต 5 แห่ง ประกอบด้วย แสตนดาร์ดแอนด์พัว (เอสแอนพี),บริษัท ฟิทช์เรทติ้ง อินเวสท์เม้นท์ แอนด์อินฟอร์เมชั่น ,อาร์แอนด์ไอ I (R&I), บริษัทจัดอันดับเครดิตเรทติ้งของญี่ปุ่น (JCR) และ บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส(มูดี้ส์ ) ปรับลดเครดิตประเทศไทย
เหตุผลหลักเนื่องจากการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ผนวกกับภาวะวิกฤติการเงินโลกจากการเข้ายึดครองสนามบินนานาชาติทั้ง 2 แห่งของไทยโดยกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. การตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคการเมือง 3 พรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาล การที่ยังไม่มีผู้นำในการบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ ล้วนส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ การปรับลดแนวโน้มเครดิตของไทยเป็นลบ แม้ว่าจะยังไม่มีผลต่อระดับเครดิตของประเทศ แต่เป็นการส่งสัญญาณอันตรายต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศในเศรษฐกิจไทย และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะนำไปสู่การปรับลดเครดิตของประเทศในที่สุด
การคลี่คลายของปัญหาความไม่สงบทางการเมืองและการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มีความมั่นคงและเป็นที่ยอมรับ น่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่ง แต่คงไม่สามารถทำให้แนวโน้มเครดิตของประเทศกลับมาสู่ระดับเสถียรภาพเช่นเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของประเทศในมุมมองของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทุกแห่งมี 2 ประการ ได้แก่ ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบกับหนี้ต่างประเทศ และการรักษาวินัยทางการคลังซึ่งวัดจากหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น นโยบายรัฐบาลในระยะต่อไปจะต้องมุ่งเน้นการรักษาความเข้มแข้งใน 2 ด้านนี้