รัฐเตรียมเจรจาเอกชนให้เลื่อนแผนนำไฟฟ้าเข้าระบบออกไปอีก 1 ปีจากปี 54

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 11, 2008 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปลัดกระทรวงพลังงาน เผยสัปดาห์หน้าเตรียมเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนให้เลื่อนแผนนำไฟฟ้าเข้าระบบนับตั้งแต่ปี 2554 ออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศตั้งแต่ปี 2551-2565 จะขยายตัวในอัตรา 5%

นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีแผนส่งไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป ให้เลื่อนนำไฟฟ้าเข้าระบบออกไป 1 ปี เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างและการผลิตปรับตัวสูงขึ้น

โดยเฉพาะโครงการเปิดประมูลเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(ไอพีพี) 4 โครงการ รวม 4,400 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน อ.มาบตาพุด จ.ระยอง จำนวน 660 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 540 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าเสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 1,600 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าหนองแซง อ.หนองแซง จ.สระบุรี จำนวน 1,600 เมะวัตต์ รวมทั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) คือ โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ,โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินจะเลื่อนเข้าระบบเป็นครั้งที่ 2 รวมเป็น 2 ปี แต่มีเงื่อนไขว่าราคารับซื้อไฟฟ้ายังเป็นราคาเดิมที่เคยตกลงกันไว้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าในประเทศ ส่วนแผนพลังงานทดแทนยังเดินหน้าต่อไปไม่มีการชะลอโครงการ

ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การสำรองไฟฟ้าในไทยช่วงปี 2552-2553 จะมีปริมาณสำรองอยู่ที่ 22-23% เนื่องจากปรับสำรองไฟฟ้าไม่ทัน ส่วนปี 2554 ลดลงมาอยู่ที่ 18-19% และปี 2555 เป็นต้นไปจะลดลงมาอยู่ที่ 15-16% โดยคาดว่าตั้งแต่ปี 2551-2565 ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะขยายตัวอยู่ที่ 4-5% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

ทั้งนี้ได้ตั้งสมมุติฐานในการปรับแผนความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ที่จะปรับลดลงเป็น 3 กรณีตามประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า คือ หากเศรษฐกิจขยายตัวในระดับปกติที่ 2% ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะปรับลง 10% จากกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 26,000 เมกะวัตต์ หรือเฉลี่ยปรับลดกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าลงกว่า 2,000 เมกะวัตต์

แต่หากเศรษฐกิจมีการขยายตัวในระดับเลวร้ายที่ 1% ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะลดลงถึง 15% และหากเศรษฐกิจมีการขยายตัวในระดับดีที่ 3% ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะลดลงเพียง 5% จากกำลังการผลิตติดตั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ