นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยอมรับว่า ในปี 52 คงไม่มีโอกาสได้เห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามที่ ธปท.เคยคาดไว้ในระดับ 3.8-5.0% แล้ว แต่มีโอกาสที่จะเติบโตได้ราว 2% และอาจเหลือแค่ 0% ได้กรณีเลวร้าย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถดำเนินการตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการชุมนุมปิดสนามบินแห่งชาติสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงภายนอกค่อนข้างมาก
ธปท.จะนำปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมาพิจารณาในการทบทวนคาดการณ์เศรษฐกิจรอบต่อไปในเดือน ม.ค.52 นอกจากที่ระบุข้างต้น ยังมีการประเมินผลการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งปัจจัยบวกยังยังพอมีอยู่ เช่น อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสอยู่ที่ 0% ต้นทุนผู้ประกอบการลดลงอย่างมากตามราคาน้ำมันที่ลดลงมาในระดับต่ำเท่ากับเมื่อ 4 ปีก่อน ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง
นางอมรา กล่าวว่า กรณีสถานการณ์เลวร้ายสุดอาจจะได้เห็นเศรษฐกิจโตเหลือ 0% ได้เหมือนกัน ถือว่าเป็นการปรับตัวลดลงแรงเมื่อเทียบกับช่วงเดือน ต.ค.ที่ได้ประเมินไวี่ที่จะมีจีดีพี 3.8-5.0% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะละตัวมากกว่าและอาจยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยการเมืองเป็นตัวกดดันความเชื่อมั่นให้ลดลงและยังมีผลต่อการใช้จ่ายเม็ดเงินงบประมาณกลางปี 1 แสนล้านบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลชุดก่อนกำหนดแผนงานไว้
อย่างไรก็ตาม หากดจีดีพีปี 52 โตเหลือ 0% เมื่อบวกกับความสัมพันธ์ของอัตราว่างงานที่ช่วงหลังจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% จากเดิมที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.4% ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้มีโอกาสที่จะเห็นการตกงาน 1.0-1.2 ล้านคนในปีหน้า
"หากจีดีพีในปีหน้าชะลอจริงๆ รายได้ของรัฐบาลก็จะลดลงไปด้วย เพราะฉะนั้นมองว่าภาครัฐคงจะต้องมีการใช้จ่ายอย่างแน่นอน แต่คงจะเป็นการใช้จ่ายที่จำเป็นโดยเฉพาะที่ทำให้เกิดการจ้างงานและเกิดการลงทุน"นางอมรา กล่าว
แต่ภายใต้ปัจจัยที่รายล้อมและเลวร้ายแต่ก็ยังมีประเด็นที่ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้าได้บ้าง ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมามาก หนี้ต่อภาครัฐที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้รัฐสามารถกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ได้เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจซึ่งเอกชนก็จะมีความมั้นใจในการจ้างงาน
นางอมรา ยอมรับว่า ปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาและประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% ก็ถือเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะไม่ดี แต่อย่างไรก็ตาม การที่กนง.ลดดอกเบี้ย ทำให้แบงก์พาณิชย์กล้าปล่อยสินเชื่อเหมือนกัน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยต่ำก็มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์พาณิชย์ก็ตอบรับการลดดอกเบี้ยแต่คงไม่ได้เป็นการลดทันทีคงจะเป็นการทยอยลดลงมากกว่า
ส่วนสภาพคล่องก็ยังถือว่าดีเพราะหากดูตัวเลขหนี้ต่อเงินฝากยังอยู่ในระดับสูงกว่า 90% ขณะเดียวกันสภาพคล่องที่กลับมายังแบงก์ชาติก็ยังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 4-5 แสนล้านบาท
"ตอนนี้แรงกระตุ้นยังพอมีอยู่บ้างแต่อยู่ที่ว่าจะออกมาได้ทันอย่างไร แต่แบงก์ชาติเองเราก็ยังพร้อมจะใช้นโยบายการเงินลักษณะผ่อนคลายต่อไป"นางอมรา กล่าว