ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% หวังประคองตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 12, 2008 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.50 ในการประชุมตามวาระปกติเป็นรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 15-16 ธ.ค.51 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐขยับลงมาใกล้ร้อยละ 0.00 และเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินทางด้านราคาของเฟดที่ค่อนข้างจะเต็มที่แล้ว เพราะหลังจากนี้เฟดคงเหลือพื้นที่จำกัดแล้วสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก

ทั้งนี้ คาดว่า เฟดคงจะสานต่อการดำเนินนโยบายการเงินทางด้านปริมาณต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่เฟดอาจจะดำเนินการเป็นลำดับถัดไป

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องดำเนินนโยบายการเงินในเชิงที่ผ่อนคลายมากขึ้นอีกเท่าที่จะสามารถทำได้ต่อไป และประคับประคองให้เศรษฐกิจค่อยๆ ทยอยปรับตัวกลับคืนสู่ภาวะปกติในระยะถัดๆ ไป" บทวิจัย ระบุ

ขณะเดียวกันคงต้องติดตามประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายดังกล่าว ควบคู่กันกับการใช้นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากทางการสหรัฐ โดยเฉพาะจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายบารัค โอบามา ในช่วงเดือน ม.ค.52 ว่าจะสามารถช่วยให้ภาคธุรกิจเอกชนสหรัฐมีการปรับโครงสร้างเพื่อความอยู่รอดและสามารถจะแข่งขันได้ในระยะยาว

หรือว่าจะเป็นเพียงการต่อลมหายใจและประวิงเวลาก่อนที่จะกลายมาเป็นปัญหาอีกครั้งในอนาคต ซึ่งความสำเร็จหรือล้มเหลวของการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของเฟดและทางการสหรัฐ ในท้ายที่สุดแล้วคงจะมีอิทธิพลต่อการหลุดพ้นจากวิกฤตในรอบนี้ของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงประเทศไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงในระดับสูง โดยเฉพาะล่าสุดแผนการเข้าช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐไม่ผ่านการลงมติจากวุฒิสภาสหรัฐอาจทำให้ธุรกิจยานยนต์ต้องประสบกับภาวะล้มละลาย และกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาคส่วนต่างๆ ผ่านห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมดังกล่าว(supply chain)

ประกอบกับปัจจัยลบด้านการเมืองในประเทศที่ยังไม่ยุติ อาจทำให้ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ยังคงมีน้ำหนักอยู่ต่อไปในช่วงปีข้างหน้า ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวติดลบหรือหดตัวลงในบางไตรมาสของปี 2552 สอดคล้องกันกับการประเมินของกระทรวงการคลังก่อนหน้านี้

ดังนั้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยดังกล่าว นโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทยก็ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องปรับตัวอยู่ในช่วงขาลงต่อไปเช่นเดียวกันกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยของนานาประเทศทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ