"โฆสิต"แนะSME ฝ่าวิกฤติเน้นดูแลสภาพคล่อง-คุมความเสี่ยง-ค่าใช้จ่ายลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 12, 2008 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ(BBL) กล่าวในสัมมนาเรื่อง"SME ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก"ว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นในปี 51 จะรุนแรงขึ้นต่อเนื่องไปจนตลอดทั้งปี 52 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME ของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในแง่ของความต้องการสินค้าจากลูกค้าที่ลดลง และราคาสินค้าตกต่ำหรือผันผวนอย่างมาก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวแตกต่างจากวิกฤติในปี 40 ที่มีผลกระทบจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน

สิ่งสำคัญที่ SME ควรจะต้องดำเนินการคือ การดูแลสภาพคล่องธุรกิจ, การควบคุมความเสี่ยงด้วยการหลีกเลี่ยงการเข้าไปลงทุนหรือเก็งกำไรในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ รวมทั้งจัด limit การให้เครดิตกับลูกค้า, การใช้จ่ายและลงทุนอย่างคุ้มค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ การรักษาคุณภาพสินค้า

"วิกฤติของ SME จาก 2 ปัจจัยถ้า SME ทำทั้ง 4 ข้อ ก็เชื่อว่าจะฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจโลกไปได้ แต่มีเงื่อนไขอย่างเดียวคืออย่าท้อ วิกฤติในปี 40 เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน แต่ปี 51-52 เราไม่ควรท้อเพราะยังมีเวลา" นายโฆสิต กล่าว

นายประพจน์ พลพิพัฒน์ธนพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ แพคเกจจิ้ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ในปี 52 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว เพราะที่ผ่านมามจากผลกระทบดังกล่าว ทำให้ยอดสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าลดลงไปแล้ว 30-40%

แต่ทั้งนี้บริษัทได้วางแนวทางเพื่อรองรับไว้แล้วคือ การปรับลดต้นทุนลงประมาณ 20% ด้วยการบริหารสต๊อกและวัตถุดิบให้มีความสมดุลกันและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากราคาวัตถุดิบมีความผันผวนสูง รวมทั้งลดกระบวนการผลิตให้สั้นลง แต่คงประสิทธิภาพการผลิตไว้ พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องจักรเพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่จะกลับมา จากการแก้ไขปัญหาดังกล่าวทำให้เชื่อว่าในปีหน้า ยอดขายของบริษัทจะยังเติบโตได้ประมาณ 12%

นายโสรัตน์ วณิชวรากิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จำกัด ยอมรับว่า ธุรกิจ SME ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปีนี้มากกว่าในปี 40 ซึ่งส่งผลให้ออร์เดอร์ของบริษัทลดลงไปแล้วประมาณ 25-30%

แนวทางการปรับตัวของบริษัท คือการเลือกใช้กลยุทธด้วยการแตกไลน์ผลิตสินค้าที่คู่แข่งไม่ได้ผลิต ซึ่งแม้จะมีกำไรต่อหน่วยน้อยลง แต่ก็ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น และยังต้องใช้การวิจัยและพัฒนาให้เกิดความคุ้มค่าในการผลิต ด้วยการปรับกระบวนการผลิตสินค้าให้ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งานของลูกค้าให้มากที่สุด เพื่อช่วยลดต้นทุนให้ลูกค้า ซึ่งจะทำให้บริษัทได้ลูกค้าถาวร นอกจากนั้น ยังต้องปรับ fix cost ให้กลายเป็นต้นที่แปรผันได้ เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ