ผู้เชี่ยวชาญ-นักวิเคราะห์เตือน"จีเอ็ม-ไครสเลอร์"ล้มละลายอาจสร้างความโกลาหลในสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Saturday December 13, 2008 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรม รวมถึง เจพี เพาเวอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ระบุว่า หากบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และไครสเลอร์ สองบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ล้มละลาย จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐตกอยู่ในภาวะโกลาหลภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ อีกทั้งจะส่งผลให้บริษัททุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ ได้รับผลกระทบไปด้วย

บ็อบ ชนอร์บัส หัวหน้านักวิเคราะห์จากเจพี เพาเวอร์กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า "บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอาจต้องปิดโรงงานหลายแห่ง อีกทั้งจะปลดพนักงานออกนับแสนคน และจะลดการผลิตลงด้วย สถานการณ์เหล่านี้จะทำให้ซัพพลายเออร์จำนวนมากล้มละลายตามไปด้วย ซึ่งจะสร้างความโกลาหลและสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อผู้บริโภค และจะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยลงในระดับที่ลึกกว่าเดิม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของเศรษฐกิจ หากอุตสาหกรรมล่มสลาย ระบบเศรษฐกิจก็จะได้รับความเสียหายด้วย"

ขณะที่สตีเฟ่น สแตนลีย์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากอาร์บีซี กรีนวิช แคปิตอล กล่าวว่า "เป็นเรื่องจากที่จะประเมินผลกระทบอย่างเต็มรูปแบบได้ในเวลานี้ แต่จากการประมาณการเบื้องต้นเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับวิกฤตการณ์รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนงานชาวอเมริกันให้อยู่ดีกินดีมาหลายสิบปี แต่เมื่ออุตสาหกรรมล่มสลาย จำนวนคนตกงานจะพุ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว จากเดิมที่สหรัฐเผชิญตัวเลขว่างงานที่สูงอยู่แล้ว"

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า จีเอ็มได้ว่าจ้างทนายความจากบริษัท Dewey & LeBoeuf เพื่อหารือถึงแผนการยื่นขอล้มละลายและการก่อตั้งค่ายรถยนต์ใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 หลังจากที่จีเอ็มหมดหวังที่จะได้รับเงินกู้จากรัฐบาล ขณะที่ทนายความของจีเอ็มระบุว่า การยื่นเอกสารพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายอาจใช้วลา 2 ปีหรือมากกว่านั้น ขณะที่การปรับโครงสร้างองค์กรอาจทำได้ภายในเวลาเพียง 30-90 วัน

ที่ผ่านมานั้น จีเอ็มและไครสเลอร์ได้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้ได้เงินช่วยเหลือจากสภาคองเกรส รวมถึงการให้ข่าวว่าบริษัทกำลังพิจารณายื่นขอล้มละลาย แต่วุฒิสภาสหรัฐมีมติไม่อนุมัติแผนการให้ความช่วยเหลือบริษัทผลิตรถยนต์ในสหรัฐมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ด้วยการโหวตลงคะแนน 52-35 เสียง ในการประชุมเมื่อวานนี้ แม้ก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านแผนการดังกล่าวด้วยการลงคะแนนเสียง 237-170 ไปแล้วก็ตาม



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ