(เพิ่มเติม) กบง.ให้ขยายเพดานเก็บเงินเบนซิน-ดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันฯเป็น 7 บ./ลิตร

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 15, 2008 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายบริหารพลังงาน(กบง.) มีมติให้มีการขยายเพดานการจัดเก็บเงินที่ได้จากการจำหน่ายน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเป็น 7 บาท/ลิตร จากเดิมกำหนดเพเดานไว้ไม่เกิน 4 บาท/ลิตร พร้อมกันนั้นให้ชดเชยเงินสำหรับแก๊สโซฮอล์ อี 20 จำนวน 30 สต./ลิตร จากเดิมที่เรียกเก็บ 15 สต./ลิตร เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป

"การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ในครั้งนี้ เพื่อทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันแก็สโซฮอล์ E20 อยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถปรับลดราคาขายปลีกได้ทันที โดยการปรับราคาจะปรับได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ในระดับสูงทำให้ผู้ค้าได้กำไรส่วนต่างมากเกินไป ขณะที่น้ำมันแก็สโซฮอล์ E20 อยู่ในระดับที่ต่ำทำให้ไม่จูงใจในการจำหน่าย" นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธาน กบง.กล่าว

สำหรับสถานะของกองทุนน้ำมันฯ มีเงินสดจำนวน 16,097 ล้านบาท แต่มีหนี้ค้างเดิมจำนวน 7,787 ล้านบาท และหนี้จากการชดเชยค่าก๊าซหุงต้มที่ต้องจ่ายให้ ปตท.อีก 7.9 พันล้านบาท

โดยปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินในเดือน ต.ค.51 อยู่ที่ 19.2 ล้านลิตร ซึ่งเป็นแก๊สโซฮอล์ 10.5 ล้านลิตร และเดือน พ.ย.51 เพิ่มเป็น 19.5 ล้านลิตร ซึ่งเป็นแก๊สโซฮอล์ 10.9 ล้านลิตร ขณะที่ดีเซลในเดือน ต.ค.51 อยู่ที่ 45.2 ล้านลิตร และเดือน พ.ย.51 เพิ่มป็น 46.4 ล้านลิตร

ทั้งนี้ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องดีขึ้นเนื่องจากมีรายได้ไหลเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 103 ล้านบาท/วัน จากเดิม 101 ล้านบาท/วัน และเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนตามนโยบายของประเทศเพื่อให้มีส่วนต่างจากราคาน้ำมันปกติ เพราะยิ่งประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นก็จะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ต่อไป

ประธาน กบง.กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เป็นผู้ประกาศกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ตามแนวทางการเพิ่มส่วนต่างราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม(LPG) ในภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ซึ่งต้องรอให้นายกรัฐมนตรีลงนามก่อน

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG กบง.จึงได้อนุมัติเงิน 88.8 ล้านบาท เพื่อให้กลุ่มแท็กซี่ดังกล่าวเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV จำนวน 20,000 คัน ในระยะเวลา 4 เดือน ซึ่ง บมจ.ปตท.(PTT) รับภาระให้เงินช่วยเหลือประมาณ 190.4 ล้านบาท/เดือน คิดเป็นเงิน 761.6 ล้านบาท และกองทุนน้ำมันฯ ให้เงินช่วยเหลือประมาณ 22.2 ล้านบาท/เดือน คิดเป็นเงิน 88.8 ล้านบาท

นอกจากนี้จะรณรงค์ให้ประชาชนทั้งภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งและอุตสาหกรรมให้ใช้ก๊าซ LPG อย่างประหยัดและให้เข้าใจถึงระบบการกำหนดราคาก๊าซ LPG อีกทั้งจะส่งเสริมและจูงใจให้กลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซ LPG เปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV ให้ได้ภายในเดือนเมษายน 2552 รวมไปถึงการขยายการให้บริการ NGV อย่างทั่วถึงเพิ่มมากขึ้น โดย ปตท.มีสถานีให้บริการ NGV แล้ว 275 แห่งใน 44 จังหวัด และในปี 2552 จะมีขยายสถานีบริการให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ