"แมนกรุ๊ป"อ่วม หลังมีเอี่ยวลงทุน $360 ล้านในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของมาดอฟฟ์

ข่าวต่างประเทศ Monday December 15, 2008 19:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แมน กรุ๊ป (Man Group Plc) ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่สุด กลายเป็นเหยื่ออีกรายหนึ่งของ เบอร์นาร์ด มาดอฟฟ์ เมื่อแมน กรุ๊ป ได้ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนในกองทุนสองแห่งของอดีตประธานตลาดหุ้นแนสแดค เป็นมูลค่าประมาณ 360 ล้านดอลลาร์

เว็บไซต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การลงทุนของแมน กรุ๊ป ในบริษัทเบอร์นาร์ด แอล. มาดอฟฟ์ อินเวสท์เมนท์ ซีเคียวริตีส์นั้น เป็นการดำเนินการผ่านกองทุนสถาบัน อาร์เอ็มเอฟ และการลงทุนดังกล่าวมีมูลค่าคิดเป็น 0.5% ของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท ณ วันที่ 30 กันยายน

แมน กรุ๊ป ซึ่งตั้งอยู่ในอังกฤษ กล่าวในแถลงการณ์ว่า อาร์เอ็มเอฟจะดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อกอบกู้สินทรัพย์ของนักลงทุน

สำหรับสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหายจากการเข้าไปลงทุนในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของนายมาดอฟฟ์ รวมถึง โนมูระ โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นบริษัทโบรกเกอร์รายใหญ่สุดของญี่ปุ่น, ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ เอสเอ ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์รายใหญ่อันดับ 3 ของยุโรป และธนาคารโซซิเอเต เจเนอราล (ซอคเจน) ซึ่งธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ของฝรั่งเศส โดยโนมูระเปิดเผยว่า บริษัทได้รับความเสียหายจากการเข้าไปลงทุนในกองทุนของมาดอฟฟ์เป็นวงเงิน 302 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ได้รับความเสียหายเป็นวงเงินจำนวนมากถึง 468 ล้านดอลลาร์ และธนาคารซอคเจนเสียหายจำนวน 13.3 ล้านดอลลาร์

ส่วนบริษัทรายอื่นๆที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายจากการเข้าไปลงทุนในแชร์ลูกโซ่ของมาดอฟฟ์ คือบริษัท แฟร์ฟิลด์ กรีนิช กรุ๊ป ของนายวอลเตอร์ โนเวล ซึ่งทุ่มเงินลงทุนในบริษัทของมาดอฟฟ์สูงถึง 7.3 พันล้านดอลลาร์ และบริษัท คินเกท แมเนจเมนท์ ที่สูญเงินลงทุนไปถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์

เบอร์นาร์ด มาดอฟฟ์ อดีตประธานตลาดหุ้นแนสแดค ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหาจัดตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในรูปแบบของ แชร์ลูกโซ่ (ponzi scheme) ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับลูกค้าที่เข้าลงทุนในกองทุนดังกล่าวเป็นวงเงินถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และถือเป็นคดีฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ หลังจากที่ได้เกิดคดีใหญ่สะเทือนวงการธุรกิจโลกมาแล้วอย่าง "คดีเอ็นรอน" ในปีพ.ศ.2544 และส่งผลให้หลายฝ่ายกังขาในการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ