เบอร์นาร์ด มาดอฟฟ์ อดีตประธานกรรมการตลาดหุ้นนาสแดค กลายเป็นบุคคลที่ถูกสปอทไลท์จับจ้องมากที่สุดในเวลานี้ นับตั้งแต่เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) บุกจับกุมตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในข้อหาจัดตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในรูปแบบของ แชร์ลูกโซ่ (ponzi scheme) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ส่งผลให้สถาบันการเงินหลายแห่งทั่วโลก อีกทั้งกองทุน นักลงทุนผู้มั่งคั่งและผู้มีชื่อเสียง สูญเงินไปกับการหลอกลวงในครั้งนี้เป็นวงเงินถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมาดอฟฟ์ได้ใช้ประโยชน์จากความน่าเชื่อถือที่ตนเองมีในฐานะผู้บริหารตลาดหุ้นนาสแดคและหนึ่งในคณะที่ปรึกษาของตลาดหุ้นแห่งนี้ มาเป็นเครื่องมือหลอกลวงให้สถาบันการเงินทุ่มเงินเข้ามาลงทุนในแชร์ลูกโซ่ จนทำให้เขากลายเป็นอาชญากรข้ามคืนไปในที่สุด
คำว่า Ponzi scheme หรือ แชร์ลูกโซ่ คือแผนหลอกลวงที่มีลักษณะคล้ายกับ Pyramid scheme โดยมีเป้าหมายหลอกผู้ที่นำเงินมาลงทุนกลุ่มแรกๆว่าพวกเขาจะได้รับอัตราผลตอบแทนสูงมาก แต่ผู้หลอกลวงกลับนำเงินลงทุนของนักลงทุนรุ่นหลังๆมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนกลุ่มแรกๆ ซึ่งแชร์ลูกโซ่ประเภทนี้ถือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายแห่งสหรัฐอเมริกา
คดีฉ้อโกงของมาดอฟฟ์ไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในคดีการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ หลังจากที่ได้เกิดคดีใหญ่สะท้านวงการธุรกิจโลกอย่าง "คดีเอ็นรอน" ในปีพ.ศ.2544 ซึ่งครอบคลุมสินทรัพย์ทั้งหมด 6.34 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า มาดอฟฟ์สามารถใช้กองทุนจอมปลอมแห่งนี้หากินได้อยู่เป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีบุคคลระดับแนวหน้ามากมายเข้ามาเกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่ลวงโลกครั้งนี้ ... แต่ที่สร้างความกังขาให้กับนักลงทุนในตลาดวอลล์สตรีทมากที่สุดคือ ศักยภาพในการตรวจสอบกรณีอื้อฉาวของคณะการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) เพราะ SEC ควรจะต้องตรวจสอบบริษัทของมาดอฟฟ์อย่างละเอียด แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า เมื่อครั้งที่มีการตรวจสอบครั้งแรกในปีพ.ศ. 2535 นั้น SEC ไม่พบความผิดปกติใดๆ นอกจากนี้ การตรวจสอบอีกสองครั้งในปีพ.ศ. 2547 และ 2550 ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติเช่นกัน
การกระทำของมาดอฟฟ์ไม่เพียงแต่คนทั้งโลกจะไม่สามารถยอมรับได้เท่านั้น แม้แต่บุตรชายทั้งสองของเขา คือ มาร์ค มาดอฟฟ์ และ แอนดรูว์ มาดอฟฟ์ ก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพ่อ เพราะเมื่อมาดอฟฟ์ได้สารภาพกับบุตรชายทั้งสองของเขาว่า ธุรกิจเฮดจ์ฟันด์ที่ตั้งขึ้นในนามของเขานั้นเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมายและสร้างความเสียหายให้กับลูกค้าเป็นวงเงินสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งมาร์คและแอนดรูว์ พร้อมใจกันไปแจ้งความต่อ FBI ซึ่งนำไปสู่การจับกุมตัวมาดอฟฟ์ในที่สุด ในเวลาต่อมาผู้พิพากษาศาลกรุงนิวยอร์กมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินทั้งหมดของมาดอฟฟ์
ก่อนหน้านี้ คดีเอ็นรอน ก็เคยสร้างรอยด่างในหน้าประวัติศาสตร์การเงินของสหรัฐอย่างชนิด "ลบไม่ออก"มาแล้ว และทำให้สภาคองเกรสอัดฉีดทั้งงบประมาณและกำลังคนให้กับ SEC เพื่อควานหาตัวผู้กระทำความผิดในตลาดการเงินมาจัดการให้สิ้นซาก แต่มาดอฟฟ์ยังสามารถลอยนวลอยู่ได้ทั้งๆที่อยู่กลางนครนิวยอร์ก ขณะที่อัยการรัฐนิวยอร์กระบุว่า มาดอฟฟ์เก็บงบการเงินธุรกิจเฮดจ์ฟันด์ของเขาไว้เป็นความลับมาเป็นเวลานานแล้ว
ข่าวการฉ้อโกงที่ฉกฉวยเอาความไว้วางใจของสถาบันการเงินทั่วโลกมาเป็น "เครื่องมือ" ในการหลอกลวงของมาดอฟฟ์ครั้งนี้ สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วตลาดวอลล์สตรีทและตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากมีข้อมูลระบุว่า สถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายแห่งได้รับความเสียหายจากคดีแชร์ลูกโซ่ครั้งนี้ รวมถึงธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง HSBC
บัญชีรายชื่อสถาบันการเงิน บริษัท มูลนิธิ กองทุน และบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่ต้องสูญเงินไปกับคดีแชร์ลูกโซ่อื้อฉาวของมาดอฟฟ์ ถูกเปิดเผยออกมาเป็นระยะๆ ซึ่งที่สามารถรวบรวมได้ส่วนหนึ่งมีดังนี้
- HSBC ธนาคารรายใหญ่ของอังกฤษ 1,000,000,000 ดอลลาร์
- โนมูระ โฮลดิ้งส์ บริษัทโบรกเกอร์รายใหญ่สุดของญี่ปุ่น 304,000,000 ดอลลาร์
- บีเอ็นพี พาริบาส์ ธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ของยุโรป 480,000,000 ดอลลาร์
- โซซิเอเต เจเนอราล (ซอคเจน) ธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ของฝรั่งเศส 13.3 ล้านดอลลาร์
- แฟร์ฟิลด์ กรีนวิช กรุ๊ป 7,500,000,000 ดอลลาร์
- กรูโป แซนแตนเดอร์ เอสเอ 3,200,000,000 ดอลลาร์
- แนติกซิส เสียหาย 617,000,000 ดอลลาร์
- รอยัล แบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ 612,000,000 ดอลลาร์
- บีบีวีเอ 452,000,000 ดอลลาร์
- แมนกรุ๊ป 360,000,000 ดอลลาร์
- ไรช์มุช แอนด์ โค 332,000,000
- ยูนิเครดิต 103,000,000 ดอลลาร์
- ยูเนียน บังแคลร์ ไพรวี หลายพันล้านดอลลาร์
- เบเนดิค เฮนช์ แอนด์ โน เอสเอ 48,300,000 ดอลลาร์
- รอยัล แบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ หลายพันล้านดอลลาร์
- บังโค ซานตานเดร์ ธนาคารรายใหญ่สุดของสเปน หลายพันล้านดอลลาร์
- กองทุนคณะกรรมการตำรวจดับเพลิงแห่งรัฐคอนเน็กติกัต 41,900,000 ดอลลาร์
- กองทุนมอร์ติเมอร์ บี ซูคเคอร์แมน 30,000,000 ดอลลาร์
- ฟีนิกซ์ โฮลดิ้งส์ 15,000,000 ดอลลาร์
- ฮาเรียล อินชัวรันซ์ อินเวสท์เมนท์ แอนด์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส 14,300,000
- เครดิต อะกริโคล 13,700,000 ดอลลาร์
- มูลนิธิโรเบิร์ต ไอ แลพพิน 8,000,000 ดอลลาร์
- มูลนิธิครอบครัววุฒิสมาชิก แฟงค์ ลอเทนเบิร์ก ยังไม่ทราบจำนวน
- มูลนิธิสตีเวน สปีลเบิร์ก กว่า 12 ล้านดอลลาร์
- นอร์แมน แบรแมน อดีตผู้ว่าการรัฐฟิลาเดลเฟีย ยังไม่ทราบจำนวน
- เจ เอซรา เมอร์กิน ประธานจีเอ็มเอซี ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ยังไม่ทราบจำนวน ฯลฯ
สถาบันการเงิน มูลนิธิ และบุคคลที่มีชื่อเสียงเหล่านี้สูญเสียเงินไปแบบชนิดที่ไม่ควรจะเสียกับกองทุนแชร์ลูกโซ่ลวงโลกของมาดอฟฟ์ แม้มาดอฟฟ์จะได้รับการยอมรับจากบุคคลในแวดวงการเงินว่าเป็นนักบริหารจัดการด้านการเงินที่ฉลาดหลักแหลมที่สุดคนหนึ่ง แต่ ณ วันนี้ มาดอฟฟ์กลายเป็นอาชญากรเศรษฐกิจที่สามารถลอยนวลอยู่กลางมหานครอย่างนิวยอร์ก หลังจากศาลอนุญาตให้มาดอฟฟ์ได้รับการประกันตัวออกไปโดยใช้สินทรัพย์มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา... การกระทำของมาดอฟฟ์ถือเป็นการ "ซ้ำเติม" สถาบันการเงินทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอยู่แล้วจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤตการณ์การเงิน ซึ่งถือว่ามาดอฟฟ์ "สอบตก" ทุกวิชาในบททดสอบของชีวิต ทั้งในด้านคุณธรรม และมโนธรรม