พาณิชย์ เตือนผู้ส่งออกใช้ปย.จาก EU ต่ออายุ GSPสินค้าไทยกว่า 7พันรายการ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 16, 2008 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า หลังจากที่สินค้าไทยได้รับการต่ออายุสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร(GSP) จากสหภาพยุโรป(EU)อีกกว่า 7,000 รายการ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.52-31 ธ.ค.54 นั้น จะทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไป EU ยังขยายตัวได้อยู่ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษดังกล่าวให้มากขึ้น

เนื่องจากในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ การแข่งขันรุนแรง จึงควรหาช่องทางที่จะทำให้ศักยภาพการแข่งขันสินค้าของไทยได้เปรียบคู่แข่ง แต่ก็ต้องระวังในเรื่องการปฏิบัติให้ได้ตามกฎระเบียบของ EU โดยเฉพาะเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า หากทำผิดกฎระเบียบอาจถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้

ด้านนายไพบูลย์ ภู่เจริญ ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดว่า การส่งออกสินค้ากลุ่มยานยนต์ในปี 52 จะติดลบไม่ต่ำกว่า 20% จากปีนี้ที่คาดจะมีมูลค่าส่งออก 500,000-550,000 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้คำสั่งซื้อยานยนต์ที่ผลิตจากไทยชะลอตัวลงทั้งจากยุโรปหรือตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของสินค้ากลุ่มนี้ เพราะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ดี ในปีหน้ายังพอมีปัจจัยบวกที่เข้ามาพยุงการส่งออกยานยนต์ในภาพรวมไม่ให้ลดลงมาก คือการได้สิทธิ GSP ต่อจากอียู ซึ่งจะทำให้การส่งออกรถปิคอัพที่มีสัดส่วน 100% ของการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไปอียูได้รับการลดภาษีเหลือ 6.5% จากปกติ 10% สำหรับรถที่มีเครื่องยนต์มากกว่า 2500 ซีซี และรถที่มีเครื่องยนต์น้อยกว่า 2500 ซีซี ภาษีนำเข้าเหลือ 15.4% จากอัตราปกติ 22% โดยจะมีผลวันที่ 1 ม.ค.52

"GSP ที่ได้จากอียูคงไม่เพียงพอที่จะช่วยให้กลุ่มยานยนต์ในปีหน้าขยายตัวเป็นบวก เพราะวิกฤตเศรษฐกิจโลกกระทบหนักมาก แต่ก็น่าจะประคองตัวให้การส่งออกรถปิคอัพไปอียูเสมอตัว หรือลดลงไม่มาก เพราะเป็นกลุ่มที่ไทยมีศักยภาพและเป็นเจ้าตลาด ซึ่งจะทำให้ไทยได้เปรียบคู่แข่งมาก โดยปีหน้าจะเตรียมขยายฐานตลาดรถปิคอัพไปยังสมาชิกใหม่ของอียู เพราะยังกลุ่มยานยนต์ไทยยังไม่ไปบุก"นายไพบูลย์ กล่าวในงานสัมมนา"โอกาสทอง สินค้าไทยในตลาดอียู"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ