นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่นายกรัฐมนตรี นำทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ ได้แก่ นายกรณ์ จาติกวณิชย์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เดินสายพบผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อรับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นต่างๆ พร้อมระบุจะเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับนานาชาติให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวให้กลับคืนมาโดยเร็ว
"ความเชื่อมั่นต้องรีบนำกลับมา (การแก้)ปัญหาความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราตั้งใจจริงที่จะก้าวผ่านตรงนี้ให้ได้ และผมคงจะหาเวลาที่เหมาะสมบอกกับชาวโลกว่าเราเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น"นายอภิสิทธิ์ กล่าวกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว
ว่าที่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นทางการแล้ว จะเร่งรัดการแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยว และเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ซึ่งคิดว่าน่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว
สำหรับงานด้านการท่องเที่ยวนั้น ผู้ที่รับผิดชอบก่อนหน้านี้ทำงานไว้ได้ดีมาก ซึ่งได้หารือกับพรรคชาติไทยพัฒนาให้คัดเลือกคนที่จะมาสานต่องาน และจะได้เห็นรายชื่อ ครม.ใหม่ภายในคืนนี้หรืออย่างช้าไม่เกินพรุ่งนี้(18 ธ.ค.)
ด้านนายอภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) เปิดเผยว่า ได้ชี้แจงปัญหาและอุปสรรคด้านการท่องเที่ยวให้กับนายอภิสิทธิ์รับทราบ โดยเห็นว่าปัญหาสำคัญขณะนี้คือความเชื่อมั่นหลังเหตุการณ์ชุมนุมปิดสนามบิน รัฐบาลจึงควรเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด เพราะขณะนี้ขาดเจ้าภาพการบริหารจัดการในการเรียกฟื้นความเชื่อมั่น จะเห็นได้จากที่อังกฤษจัดให้ไทยเป็นประเทศเสี่ยงอันดับ 7 ในการเดินทางเข้าประเทศ ดังนั้นจึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการปัญหาไม่ให้บานปลายมากไปกว่านี้
ขณะที่นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว กล่าวว่า ขณะนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเหตุการณ์ปิดสนามบินส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเป็นเม็ดเงินมากน้อยเพียงใด แต่เบื้องต้นคาดว่าจะสูญเสียรายได้ 1 แสนล้านบาท แต่ความเป็นจริงแล้วอาจมากถึง 2-3 แสนล้านบาท
ปัญหาที่กระทบต่อการท่องเที่ยวคือการขาดสภาพคล่อง ซึ่งต้องการให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเงินกู้แก่ภาคธุรกิจ SMEs ด้านการท่องเที่ยวอย่างน้อยวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเรื่องสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจในช่วง 2-3 ปี ซึ่งหาก SMEs มีสภาพคล่องแล้ว จะช่วยลดปัญหาการเลิกจ้างลงได้ระดับหนึ่ง
"ตอนนี้ พ.ร.บ.แบงก์ชาติมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถให้ซอฟท์โลนแก่ SMEs ได้ ดังนั้นจึงอยากขอให้รัฐบาลจัดเป็นนโยบายในการหาเงินกู้เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้มีเงินหมุนเวียนช่วง 2-3 ปี มิฉะนั้นอาจมีปัญหาลดคนเพื่อลดต้นทุน" นายเจริญ กล่าว
นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังต้องการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ททท. และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว ได้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินนโยบายต่างๆ เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว จากเดิมที่คาดว่าต้องใช้เวลาฟื้นท่องเที่ยวนาน 1 ปีนั้น อาจจะใช้เวลาเหลือเพียง 6 เดือน
นายเจริญ กล่าวว่า ต้องการให้ รมว.ท่องเที่ยวฯ เป็นบุคคลที่ทำงานรวดเร็ว เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านการท่องเที่ยว และสามารถกระทุ้งการทำงานให้ฉับไว เพื่อให้นโยบายเดินหน้าได้โดยเร็วเพราะปัญหาของธุรกิจท่องเที่ยวขณะนี้ไม่สามารถรอได้แล้ว
นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า สิ้นปีนี้เชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยคงมีไม่ถึง 14 ล้านคน หลังเกิดเหตุการณ์ปิดสนามบินที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ซึ่งตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงขณะนี้พบว่ายอดจองโรงแรมเหลือเพียง 20% จากปกติต้องมียอดจอง 50-60% และโดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นต้องมียอดจองห้องพักถึง 80% แต่ขณะนี้เหลือเพียง 20% เท่านั้น ส่วนที่ จ.ภูเก็ต จากที่เคยมี 85-90% ตอนนี้เหลือเพียง 50%
ทั้งนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นและเสนอให้รัฐบาลจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 2% ระยะเวลาชำระคืน 4 ปี เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว การขอลดภาษีโรงเรือน และขอยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมโรงแรมตามกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ที่เรียกเก็บในอัตราห้องละ 80 บาท ซึ่งถือเป็นภาระต้นทุนแก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม
โดยปัจจุบันมีจำนวนโรงแรมทั่วประเทศ 4 แสนห้อง พนักงานโรงแรม 5 แสนคน ซึ่งหากลดภาระต้นทุนในส่วนนี้จะทำให้ภาคธุรกิจไม่มีปัญหาการลดคนงาน หรือการเลิกจ้าง พร้อมกันนี้ยังขอให้รัฐบาลสนับสนุนการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ในส่วนของค่าใช้จ่ายเรื่องการอบรม และสัมมนาของภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนจัดสัมมนาภายในประเทศมากขึ้น
"ปัญหาตอนนี้ คือไม่สามารถรับปากใครได้ว่าจะมีการปิดสนามบินอีกต่อไปหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทำให้บริษัทประกันภัยจะไม่รับผิดชอบ ถือว่าเป็นเรื่องหนักของการท่องเที่ยว...เรื่องเลย์ออฟ แม้ตอนนี้ยังไม่มีเพราะเป็นช่วงรอยต่อหลังเปิดสนามบิน และเป็นช่วงไฮซีซั่น แต่เชื่อว่าหลังปีใหม่ไปแล้วอาจจะเริ่มเห็น จึงอยากให้รัฐบาลช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการ" นายประกิจกล่าว
ด้านนางดวงกมล จันสุริยวงศ์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย เสนอ 4 ข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีว่า ต้องการให้รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น เพราะปัญหาปิดสนามบินถือว่าเป็นเรื่องของความปลอดภัย ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังกังวลในการเดินทางเข้าไทย จึงต้องการให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อดูแลสนามบิน เช่น ภายในรัศมี 20 กม. ควรเป็นเขตปลอดการชุมนุมและให้ทหารมาช่วยดูแลความปลอดภัย
การตั้ง Emergency Support Chief เข้ามาเป็นหน่วยงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาโรคซาร์, สึนามิ หรือล่าสุดที่มีเหตุการณ์ปิดสนามบินนั้น รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีเพราะขาดหน่วยงานที่เข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะ จึงต้องการให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบ โดยมีตัวแทนจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงจัดตั้ง Call Center หรือ Hotline เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักท่องเที่ยว
รัฐบาลควรทำงานร่วมกับสายการบินแห่งชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสายการบินที่มีเส้นทางบินมาประเทศไทย เพื่อร่วมจัดทำ package กระตุ้นและจูงใจการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้มากขึ้น และสุดท้ายคือเสนอให้ปรับลดค่า Landing Fee รวมถึงปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงด้วย