คลัง เผยแนวคิดเพิ่มงบกลางปีมากกว่า 1 แสนลบ.มีข้อจำกัด-ค้านลด VAT

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 18, 2008 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการระยะสั้นกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเสนอต่อ รมว.คลังคนใหม่พิจารณา โดยเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งสานต่อจัดทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2552 วงเงิน 1 แสนล้านบาทโดยเร็ว และดำเนินการให้เกิดความชัดเจนในการจัดทำกรอบรายจ่าย โดยเฉพาะการนำงบประมาณไปใช้เพื่อทำให้เกิดการจ้างงาน ชะลอการเลิกจ้าง หรือ ช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้าง

นอกจากนี้ ควรจัดสรรงบประมาณไปใช้ในการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งอาจดำเนินการในรูปแบบการจัดตั้งเป็นกองทุน หรือดำเนินการผ่านโครงการของรัฐบาล หรือ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวยอมรับว่า การจัดทำงบประมาณกลางปี สามารถเพิ่มวงเงินได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท แต่อาจไม่มากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัด ตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่การขาดดุลงบประมาณประจำปีต้องไม่เกิน 430,000 ล้านบาท ซึ่ง งบประมาณปี 2552 ได้ตั้งงบประมาณขาดดุลไว้แล้ว 250,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมการจัดทำงบกลางปี ขณะที่แนวโน้มการเก็บรายได้ของรัฐก็น่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย

“งบกลางปีวงเงิน 1 แสนล้านบาท อาจจะเพิ่มได้อีกแต่คงไม่มาก เนื่องจากมีข้อจำกัด ตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯ หากจะเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาท ก็ทำได้ แต่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ต้องไม่หลุดเป้าหมาย ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ เพราะแนวโน้มปี 52 รัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าแน่นอน" นายสมชัย กล่าว

นอกจากนี้มาตรการระยะสั้นที่เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ ยังเป็นเรื่องของภาคการเงินที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างสภาพคล่องในระบบ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบ การปรับปรุงแผนงานโครงการต่างๆในปีงบประมาณ 52ให้เกิดความเหมาะสม รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายสมชัย กล่าวถึงข้อเสนอการปรับลดภาษีเงินได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า การปรับลดภาษีต้องมีความมั่นใจว่าจะเกิดผลทันทีไม่ใช่เป็นการคาดการณ์ เพราะจะกลายเป็นการสร้างปัญหาด้านวินัยการคลังได้ เพราะการใช้นโยบายการคลังในลักษณะมาตรการภาษีต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก

ทั้งนี้ ข้อเสนอให้มีการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จาก 7% เหลือ 4%ตามข้อเสนอของหลายฝ่าย โดยมองว่าหากเศรษฐกิจชะลอตัว ควรจะลด VAT เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีหลักเศรษฐศาสตร์ แต่ในทางปฏิบัติการลด VAT เพื่อหวังผลให้เกิดการกระตุ้นการบริโภค ต้องมีความมั่นใจได้ว่าจะทำให้การบริโภคขยายตัวได้ในอัตราเดียวกับภาษีที่ลดลง

“หากมองว่า ลด VAT ลงอีก 3% ให้เหลือ 4% เพื่อให้ประชาชนมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น ก็ต้องมั่นใจว่าลดแล้วการบริโภคจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 3% หรือมากกว่านี้ ซึ่งเท่ากับว่าได้ผล แต่หากลดภาษีแล้ว ไม่ได้ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นจริงก็ถือว่าไม่ได้ประโยชน์ เพราะ การลด VAT 1% รัฐบาลสูญเสียรายได้สูงถึงปีละ 60,000 ล้านบาท" นายสมชัย กล่าว

ส่วนการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เห็นว่าควรลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางภาษี และเมื่อข้างหนึ่งมีการลดภาษี อีกข้างก็ต้องมีการปรับขึ้นภาษีอื่น ๆ มาชดเชยกัน เช่น การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา ยาสูบ ดังนั้นการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบควรจัดทำเป็นแพ็คเกจ ขึ้นกับจังหวะเวลาที่เหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ