นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้รับคาดหมายว่าจะได้รับแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่ รมว.คลัง กล่าวว่า หากได้รับมอบหมายให้เข้ามาเป็น รมว.คลังจริง ก็จะเดินหน้าใช้นโยบายด้านการเงินและการคลังควบคู่กันไปในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศ
ในส่วนนโยบายการเงินจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) 2-3 เรื่อง ประกอบด้วย การชะลอใช้กฎระเบียบภายใต้ Basel II ในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์จากเดิมที่จะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 52 เนื่องจากเห็นว่าเห็นว่าไม่เหมาะสมกับเศรษฐกิจปัจจุบันแล้วเพราะจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งหากชะลอออกไปจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินทุนปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ จะหารือถึงข้อจำกัดภายใต้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับใหม่ ในการให้สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน(ซอฟท์โลน) ซึ่งจะต้องพิจารณาบทบาทของ ธปท.ในเรื่องนี้
ส่วนนโยบายดอกเบี้ยเห็นว่าหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ได้ลดดอกเบี้ยลง 1% ถือว่ามีการประเมินสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หลังความกังวลต่อเงินเฟ้อลดลงไปมาก และธปท.ให้ความสำคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาลง
ขณะที่การแต่งตั้งกรรมการ ธปท.ชุดใหม่ ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อร่วมสรรหาบุคคลที่เหมาะสม ส่วนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)คงไม่มีการรื้อใหม่ เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งไม่ได้มีปัญหาและไม่มีผู้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตรวจสอบ
"อยากให้พิจารณาถึงปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ จะเข้ามาดู เช่น บาเซล 2 เป็นกฎระเบียบที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกใช้ แต่จะทำให้เงินทุนที่ธนาคารพาณิชย์จะใช้ปล่อยกู้มีภาระเพิ่มขึ้น 10% หากจะชะลอออกไปก่อนก็อาจมีเหตุผลในเชิงบวกต่อสภาพคล่องในระบบ และความสามารถการเข้าถึงสภาพคล่อง ซึ่งจะหารือกับแบงก์ชาติด้วย"นายกรณ์ กล่าวทางรายการวิทยุ เมื่อเช้านี้
ว่าที่ รมว.คลัง คนใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของนโยบายการคลัง ต้องเร่งเดินหน้าจัดทำงบประมาณกลางปี 52 เพิ่มเติม ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ส่วนจะเพิ่มวงเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาทหรือไม่คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยยอมรับว่ามีข้อจำกัดที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากรายรับของรัฐบาลปีงบประมาณ 52 อาจจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่รวม รายได้รัฐวิสาหกิจที่นำส่งคลัง อาจลดลงจากผลกำไรที่ลดลง
สำหรับกรอบการใช้งบกลางปีจะนำมาใช้ทั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ กระตุ้นการบริโภค และอีกด้านเป็นการลดรายจ่าย ลดต้นทุนผู้ประกอบการ โดยงบประมาณ งส่วนจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคจริง ส่วนปัญหาแรงงานก็ต้องมีการจัดสรรงบประมาณตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือ รองรับผู้ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการอื่นดูแล
นายกรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ของผู้ประกอบการ เพื่อลดภาระกระแสเงินสดหมุนเวียนผู้ประกอบการว่า เป็นข้อเสนอที่รัฐบาลใหม่จะนำไปพิจารณา โดยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นแนวคิดที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว โดยมองระยะยาวว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลควรลดลงจาก 30% เหลือ 25% แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของจังหวะเวลา และปัญหาของผู้ประกอบการก่อนว่าหากลดภาษีช่วงนี้แล้ว จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ คุ้มค่ากับการใช้งบประมาณหรือไม่
ขณะที่ภาษี VAT ถือเป็นรายได้หลักของรัฐบาล โดย VAT 1% มีผลต่อการจัดเก็บรายได้ 60,000-70,000 ล้านบาท ดังนั้น การลด VAT ต้องมีความชัดเจนว่า เมื่อลดแล้วจะมีผลต่อราคาสินค้าบริโภคลดลงจริงหรือไม่ และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง คือกลุ่มใด ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ต้องพิจารณาความชัดเจนก่อนจะออกนโยบายออกมา
"ตอนนี้ทรัพยากรมีจำกัด รายได้ของรัฐบาลก็มีแนวโน้มปรับลดลง ดังนั้น ต้องระมัดระวังว่าทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ต้องคุ้มค่า ตรงต่อยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ปัญหาที่เราประเมิน..ทุกอย่างจะประสบความสำเร็จได้ จะต้องมาจากความเชื่อมั่น และความเชื่อมั่นต้องมาจากความมั่นใจของเสถียรภาพการเมือง และสถานะการเงินการคลังของประเทศ ดังนั้นการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ต้องครอบคลุม 2 มิติ" นายกรณ์ กล่าว