ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ระบุว่า ในปี 52 มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้มีความคืบหน้ามากขึ้น เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พยุงให้เศรษฐกิจเติบโตไม่ต่ำกว่า 4% และป้องกันปัญหาการว่างงาน
แต่รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงการจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนที่เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศโดยรวม และมีความสมดุลทั้งในด้านกายภาพ (เช่น ถนน ระบบน้ำ การขนส่งทางราง เป็นต้น) และด้านสังคม (เช่น การศึกษา ระบบสาธารณสุข เป็นต้น) เพื่อสร้างฐานในการสร้างรายได้ในระยะยาว
รวมทั้ง ประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง, การเพิ่มฐานรายได้ใหม่ๆ มากขึ้น เช่น การปรับปรุงโครงสร้างภาษี และโครงสร้างการจัดเก็บรายได้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ภาษี เก็บภาษีทรัพย์สิน เป็นต้น เพราะหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูงและมีแนวโน้มสูงที่จะอยู่ในภาวะที่ตกต่ำจะเป็นการเพิ่มภาระทางการคลังของประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากการประมาณการของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พบว่า หากในปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัว 3-4% จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นเป็น 40% ของ GDP
สำหรับโครงการที่มีศักยภาพสูงที่จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 52 มี 3 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) สายสีแดง(ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน)และสายสีเขียว แต่ความคืบหน้าในการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมืองเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญานชะลอตัวในไตรมาสที่ 3/51 โดยอุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวค่อนข้างมากเหลือเพียง 1.4% ต่ำกว่าปี 2544 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกประสบปัญหาวิกฤตเทคโนโลยี แต่อุปสงค์ภายในประเทศในช่วงเวลาเดียวกันขยายตัวได้ถึง 3.5% โดยลดลงมากในการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งหดตัว 5.5% สืบเนื่องมาจากความล่าช้าในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่และโครงการลงทุนปกติ และที่สำคัญ คือ ปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อทำให้ขาดความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน