(เพิ่มเติม1) "โอฬาร"คาดศก.ไทยปี 52 มีโอกาสติดลบ 1% หากไม่มีงบกลางปีแสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 19, 2008 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลรักษาการ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 52 มีโอกาสหดตัวราว 1% หากไม่มีการใช้จ่ายงบกลางปีเพิ่มเติมอีก 1 แสนล้านบาท ตามที่รัฐบาลชุดเดิมได้วางแนวทางไว้ ส่วนการเพิ่มวงเงินงบกลางปีขึ้นอีกนั้นก็สามารถทำได้ แต่จะต้องมาตรการอื่นเข้ามาเสริมด้วย

"งบกลางปีแสนล้านบาท น่าจะเพิ่มเป็น 1.5 แสนล้านบาทได้ โดยไม่ต้องกังวลฐานะการคลัง"นายโอฬาร กล่าว

ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับมาตรการทางภาษี ทั้งการลดในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น นายโอฬาร กล่าวว่า ไม่สนับสนุนแนวทางดังกล่าวเนื่องจากมองว่าการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนจะเป็นแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า

พร้อมกันนี้ เห็นว่าค่าเงินบาทควรบริหารจัดการให้อ่อนค่ากว่าปัจจุบัน เพราะเป็นผลดีทั้งกับการเพิ่มรายได้จากการส่งออกและลดการนำเข้า แต่จะอ่อนค่าไปที่เท่าใดจึงจะเหมาะสมนั้น ต้องขึ้นกับวัตถุประสงค์

นายโอฬาร กล่าวว่า จากวิกฤติการเงินโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งไทย ทำให้รัฐบาล ได้ออก 6 นโยบายหลักป้องกันวิกฤติ ประกอบด้วย มาตรการด้านตลาดทุน การสร้างสภาพคล่องและขยายสินเชื่อให้เพียงพอแก่ธุรกิจ การเร่งรัดการส่งออกและท่องเที่ยว การสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้ประชาชน การเร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และการสร้างประชาคมการเงินเอเซีย โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 52 จะขยายตัวได้ 4 % โดยเป็นการจัดทำนโยบายก่อนเกิดเหตุการปิดสนามบิน ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลใหม่ที่เตรียมเข้ามาบริหารประเทศ เห็นว่า 6 มาตรการเดิมที่ทำไว้น่าจะครอบคลุมการแก้ปัญหาแล้ว แต่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งเข้ามาดำเนินการโดยเร็ว และเป็นมาตรการที่แรงขึ้น โดยเฉพาะการจัดทำงบกลางปี เห็นว่าสามารถเพิ่มงบกลางปีได้จาก 1แสนล้านบาท เป็น 1.5-2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่ไม่มีผลกระทบต่อฐานะการคลังมากนัก แต่การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ต้องนำไปใช้ในโครงการที่เบิกจ่ายเงินได้เร็ว และต้องเร่งเบิกจ่ายภายใน 6-9 เดือน

"กรอบการใช้เงินงบกลางปี เห็นว่า ตามกรอบเมนูที่รัฐบาลเดิมเคยทำไว้ ที่ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ถือว่าครอบคลุมในการเข้าไปดูแลประชาชน รัฐบาลใหม่สามารถนำไปใช้ได้ 70-80% เพราะหากจะเปลี่ยนแปลงการใช้เงินใหม่ทั้งหมดคงจะใช้ไม่ทัน 1 เม.ย.52" นายโอฬาร กล่าว

ส่วนมาตการดูแลสภาพคล่อง รัฐบาลควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในส่วนผู้ให้กู้ กับภาคธุรกิจ หรือประชาชน ผู้กู้ ซึ่งเห็นว่า การลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว คงไม่ได้ผล ดังนั้นรัฐบาลต้องใช้มาตรการการคลังเข้ามาสร้างความเชื่อมั่น โดยการจัดตั้งเป็นกองทุนเงินให้สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน คล้ายเงินกู้กรณีเหตุการณ์สึนามิ วงเงิน 50,000- 100,000 ล้านบาท นำโดย ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม และภาคท่องเที่ยว เป็นการเยียวยา ประคับประคองธุรกิจไม่ให้ปิดกิจการ หรือเป็นการสร้างการผลิตในธุรกิจ

ทั้งนี้ ต้องเร่งรัดให้ระบบธนาคารพาณิชย์ ปล่อยสินเชื่อให้ขยายตัวได้ 2-3% จากเดิมเคยวางเป้าหมายให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวถึง 5% แต่คงเป็นเรื่องยากในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยต้องดูแลไม่ให้อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในระดับต่ำจนถึงขั้นติดลบ อย่างน้อยควรให้อยู่ไม่ต่ำกว่า 1%

และในสถานการณ์ปัจจุบัน เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยให้เงินบาทอ่อนค่าลง เพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจ ช่วยภาคการส่งออกมีรายได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ภาคการนำเข้า จะมีการนำเข้าสินค้าที่แพงขึ้น เช่นน้ำมัน ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศ หรือส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เป็นการลดการนำเข้าได้อีกทาง

ส่วนเงินบาทที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์ จะอ่อนค่าลงในระดับใด นั้น ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาล นอกจากนี้แม้เงินบาท หากดูแลให้อ่อนค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้านบ้างก็ไม่น่าจะมีปัญหาด้วย

"ภาวะปัจจุบัน สิ่งที่ทำได้เพื่อดูแลเศรษฐกิจคือ การใช้จ่ายภาครัฐ โดยเพิ่มงบกลางปี และให้เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่แนวคิดการลดภาษี ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรม และ VAT ยังไม่ควรนำมาใช้ในภาวะปัจจุบัน เพราะแม้จะลดภาษี แต่ในเมื่อประชาชน ภาคเอกชน ไม่มีเงิน ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะลดภาษี แต่ควรใช้วิธีการเพิ่มเงินให้ประชาชนมีใช้จ่ายมากกว่า " นายโอฬาร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ