สสว.เผยปี 52 หลายปัจจัยรุมเร้า SME คาดภาคการผลิต-บริการจ้างงานลดลง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 22, 2008 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ พบว่า ปี 52 มีหลายปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของ SMEs ทั้งสถานการณ์การเมือง การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ การลงทุน ค่าเงินบาท ความผันผวนของราคาพลังงาน ผลกระทบด้านต้นทุน การบริโภคที่ลดลง นโยบายหรือการเปลี่ยนรัฐบาล

สสว.คาดว่า ปี 52 ผู้ประกอบการ SMEs จะมีจำนวน 2.42 ล้านราย เพิ่มขึ้น 12,311 ราย คิดเป็น 0.53% แต่เป็นการขยายตัวแบบถดถอย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่วิสาหกิจสาขาอื่น ๆ จะมี SMEs เพิ่มขึ้น 25,340 ราย ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจการค้าและบริการ จะมีจำนวนวิสาหกิจลดลง 13,029 ราย โดยอาจประสบปัญหาที่นำไปสู่การลดขนาดธุรกิจ หรือปรับเปลี่ยนธุรกิจใกล้เคียงแบบเดิม หรือเปลี่ยนธุรกิจใหม่

ส่วนจำนวนแรงงานของ SME ในภาพรวม ปี 52 จะมีประมาณ 9.28 ล้านคน เพิ่มขึ้น 109,333 คน คิดเป็น 1.24% เป็นการจ้างงานในอุตสาหกรรมสาขาอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 229,799 คน ส่วนอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจการค้าและบริการ มีการจ้างงานลดลง 120,466 คน

ขณะที่มูลค่าตลาด ซึ่งวัดจากรายได้สุทธิ จะมีจำนวน 6.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว1.33% ส่วนการส่งออก 1.80 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.06% และผลิตภาพทุน 0.23 เท่า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.28%

อย่างไรก็ตาม จำนวนวิสาหกิจ SME ในภาคการผลิต คาดว่าจะมีจำนวน 652,715 ล้านราย ลดลง 0.57% พบว่าสาขาในกลุ่มวิศวการ จะมีลดลงเป็นส่วนใหญ่ แต่ภาคการผลิต จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และกลุ่มอาหาร ภาคการค้าและบริการ ส่วนสาขาที่คาดว่าจะมีจำนวนวิสาหกิจลดลง เช่น บริการท่องเที่ยว บริการอื่น ๆ

จำนวนการจ้างงาน พบว่าในภาคการผลิต จะมีการจ้างงานประมาณ 3.31 ล้านคน ลดลง 1.16% ส่วนสาขาที่จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจะอยู่ในกลุ่มอาหารเป็นส่วนใหญ่ ภาคการค้าและบริการ จะมีการจ้างงานประมาณ 3.17 ล้านคน ลดลง 0.22% โดยสาขาที่คาดว่าจะมีการจ้างงานลดลง ได้แก่ บริการที่ปรึกษา บริการอื่น ๆ บริการคอมพิวเตอร์ฯ บริการสุขภาพและอนามัย ไปรษณีย์ฯ

ส่วนภาคการผลิตสาขาที่มีความโดดเด่น คือ สิ่งพิมพ์ ยา-สมุนไพร และเวชภัณฑ์ เยื่อกระดาษฯ เคมีภัณฑ์ เนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์นม น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล เครื่องดื่ม อาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทเส้น และรีไซเคิล ส่วนสาขาที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง เฟอร์นิเจอร์ แก้วและเซรามิก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือเฉพาะด้าน แร่อโลหะ และเครื่องจักรกล

ภาคการค้าและบริการ จะมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่ รายได้ ผลิตภาพทุน ความสามารถในการชำระหนี้ ผลตอบแทนจากการดำเนินงาน และรายได้ด้อยค่า โดยพบว่าสาขาที่มีความโดดเด่นใน 5 ลำดับแรก ได้แก่ บริการที่ปรึกษา บริการทางการเงิน ไปรษณีย์ โลจิสติกส์ บริการ การศึกษา ส่วนสาขาที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ โรงแรมและภัตตาคาร ก่อสร้าง บริการเสริมสุขภาพ สปาฯ บริการอสังหาริมทรัพย์ และบริการท่องเที่ยว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ