(เพิ่มเติม) รมว.คลัง เผยเตรียมเพิ่มงบกลางปี 1.0-1.8 แสนลบ.-เล็งต่ออายุ 6 มาตรการฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 23, 2008 10:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า เตรียมเพิ่มงบกลางปี 52 วงเงินไม่ต่ำกว่า 1.0 แสนล้านบาท แต่ไม่ถึง 1.8 แสนล้านบาท พร้อมทั้งมีแนวคิดจะขยายเวลามาตรการส่วนใหญ่ใน"6 เดือน 6 มาตรการ"ที่รัฐบาลชุดเดิมทำมา โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนในเรื่องค่าน้ำค่าไฟฟ้า แต่จะไม่รวมถึงมาตรการลดภาษีน้ำมัน

ส่วนข้อเสนอลดภาษีเงินได้ขณะนี้ยังไม่น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ในงบประมาณปี 52 น่าจะต่ำกว่าเป้าหมายเป็นเงินประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท หรือลดลง 10% จากเป้า

"งบกลางปี 52 เต็มเพดานอยู่ 1.8 แสนล้านบาท แต่พิจารณาดูแล้วในหมวดค่าใช้จ่าย จะดูตามความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ผมอาจคิดต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยจะดูถึงความจำเป็นของการใช้เงินในแต่ละรายการ ซึ่งต้องมีมาตรการใช้จ่ายเงินที่ชัดเจน ดังนั้น เงินที่ทำงบกลางปีอาจไม่ถึงเต็มเพดาน" นายกรณ์ กล่าวหลังเดินทางมายังกระทรวงการคลังเป็นครั้งแรกหลังได้รับตำแหน่ง

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 53 รัฐบาลก็จะจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง และจะดูแลการใช้งบประมาณและใช้เงินงบประมาณอย่างคุ้มค่า

นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีปัญหาการจัดเก็บรายได้ปี 52 จะต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 10% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท จากการจัดเก็บรายได้จากภาษีที่ต่ำกว่าเป้าหมาย รวมถึงการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ

ขณะนี้เห็นว่าสถานการณ์ในปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีแนวคิดปรับลดภาษีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล แม้ว่าในสมัยที่เป็นครม.เงา เคยมีแนวคิดเสนอให้รัฐบาลเดิมปรับลดภาษี แต่ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นแนวคิดเดิมที่จะให้ลดภาษีอาจไม่เป็นประโยชน์ แต่จะมีการทบทวนให้เกิดความเหมาะสมกับภาวะการณ์

"หากให้เลือกระหว่างการลดภาษี กับการใช้งบประมาณเพื่อลดภาระให้ประชาชน เราอาจต้องให้น้ำหนักของการใช้งบประมาณมากกว่า แต่การลดภาษีจะพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ และรอฟังข้อเสนอแนะจากกรมจัดเก็บภาษี" นายกรณ์ กล่าว

*เสนอครม.ต่ออายุ 6 มาตรการฯ

นอกจากนี้การประชุมครม.ในวันนี้ อาจจะมีการพิจารณาเรื่องเร่งด่วนตามร่างนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะครอบคลุมมาตรการระยะสั้นเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง มาตรการเยียวยาค่าครองชีพ และยังมีมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ จะมีการหารือกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณา 6 เดือน 6 มาตรการฯ ซึ่งจะสิ้นสุดในสิ้นเดือน ม.ค.52 ซึ่งบางมาตรการอาจจะมีการขยายเวลาออกไป เนื่องจากประชาชนได้ประโยชน์ เช่น การช่วยอุดหนุนค่าน้ำค่าไฟ โดยจะหารือกับผู้บริหารเกี่ยวกับผลดีผลเสียก่อน

ส่วนการลดภาษีสรรพาสามิตน้ำมัน เห็นว่าราคาน้ำมันขณะนี้ได้ปรับตัวลงมาจากที่เคยขึ้นไปสูงถึง 40 บาท/ลิตร แต่อย่างไรก็ตาม จะมีการยกเลิกหรือไม่จะมีการหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า จะหารือกับนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้านปัญหาเศรษฐกิจ โดยจะจัดให้มีการประชุมเป็นประจำทุกวันจันทร์

ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผุ้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สศร.) กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติตามมาตรการ"6 เดือน 6 มาตรการฯ"แม้อาจส่งผลกระทบเกี่ยวกับกระแสเงินสดของหน่วยงานบ้าง แต่ก็เชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาได้

โดยในส่วนการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)ในช่วง 6 เดือนรัฐบาลต้องชดเชยค่าไฟ เป็นเงินประมาณ 825 ล้านบาท โดยยอดเงินที่รัฐบาลชดเชยให้จริงเฉลี่ยเดือนละ 120-130 ล้านบาท ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ในช่วง 6 เดือนต้องจ่ายชดเชย 10,200 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขจ่ายจริงอยู่ที่เดือนละ 1,600 -1,700 ล้านบาท

การประปานครหลวง(กปน.) รัฐบาลต้องจ่าย 2,300 ล้านบาท แต่จ่ายจริงเฉลี่ยต่อเดือน 300 ล้านบาท การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)ในช่วง 6 เดือนต่องจ่าย 2,800 ล้านบาท จ่ายจริงเดือนละ 400 ล้าบาท ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) จ่ายจริง อยู่ที่ 200 ล้านบาท ส่วนรถไฟชั้น 3 จ่ายจริงเดือนละ 60 ล้านบาท

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวถือว่าประชาชนได้ประโยชน์ หากจะต่ออาอยุมาตรการต่อไป ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพียงแต่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณชดเชยให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ โดยค่าโดยสารของรถเมล์และรถไฟ หากจะต่ออายุมาตรการภาระเงินชดเชยอาจจะต่ำลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงกว่าครึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรมว.คลัง

*มั่นใจบริหารนโยบายการเงินการคลังได้ดี

รมว.คลัง ระบุ จะไม่ดูเป้าหมายเพียงตัวเลขผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ เพราะตัวเลขจีดีพีต้องสะท้อนถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนด้วย การมีอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ดีต้องเพียงพอรองรับกับการแก้ปัญหาการว่างงานของประชาชนด้วย

ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปี 52 รัฐบาลจะดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการใช้เงินอย่างรวดเร็ว ถูกต้องตามเป้าหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน โดยเห็นว่ารัฐบาลคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียว แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นสำคัญ ซึ่งตนเองพร้อมรับฟังความเห็นจากเอกชนทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มีวาระหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน นายกรณ์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นเห็นว่า แนวทางและทิศทางการทำงานของธปท.ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดไปจากเดิมที่มองอัตราเงินเฟ้อเป็นปัญหา แต่กลับมาดูการเติบโตเศรษฐกิจมากขึ้น เห็นได้จากการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งล่าสุดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.00% ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณของธปท.อย่างชัดเจน

ดังนั้น จึงมั่นใจว่า ธปท.จะมีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายการดูแลเศรษฐกิจ และเห็นว่า ธปท.กังวลเกี่ยวกันการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของตน และ กระทรวงการคลัง ดังนั้น จึงมีความเชื่อมั่นว่าจะบริหารนโยบายการเงินการคลังได้ดี

ในช่วงบ่ายวันนี้ จะหารือกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลังเป็นครั้งแรก หลังจากที่เป็นรมว.คลังเงามา 1 ปีซึ่งที่ผ่านมาได้ติดตามงานอย่างใกล้ชิด มีความคุ้นเคย และถือว่าเป็นงานที่ท้าทาย และเชื่อมั่นว่าทุกหน่วยงานของก.คลัง และสถาบันการเงินของรัฐ จะให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศร่วมกัน

*สางคดีหุ้น SHIN อย่างโปร่งใส

สำหรับคดีเกี่ยวกับหุ้นบมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้เหลือเพียงคดีซุกหุ้น ซึ่งอยู่ขั้นตอนการพิจารณา และ อัยการสูงสุดว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งในส่วนก.คลังพร้อมที่จะให้ความร่วมมือตามความเหมาะสมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะตั้งใจทำงานอย่างโปร่งใส ไม่มีวาระใดๆซ่อนเร้น เพราะขณะนี้วาระของก.คลังและประเทศมีเพียงวาระเดียวคือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ส่วนการอุทธรณ์ภาษีของ นายพานทองแท้ ชินวัตร กรณีการโอนหุ้นนี้น นายกรณ์ กล่าวย้ำไม่มีมาตรการพิเศษ ซึ่งได้ยืนยันตั้งแต่เป็นฝ่ายค้านว่าให้ทุกหน่วยงานปฏับัติทุกอย่างดำเนินการให้ถูกต้องอย่างโปร่งใส ไม่ฝักใผ่ฝ่ายใด หรือมีการปฏิบัติที่ให้คุณให้โทษ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ