ส.อ.ท.แนะ SMEs ปรับตัวใช้เทคโนโลยีลดแรงงานมองปีหน้าเลวร้ายกว่าปี 40

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 23, 2008 11:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานที่ปรึกษา โครงการสร้าง “CFO มืออาชีพ" กล่าวว่า ในปี 52 ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้จะเลวร้ายมากกว่าเมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 เนื่องจากครั้งนี้วิกฤติเกิดขึ้นในขอบข่ายทั่วโลก จากปัญหาวิกฤตการเงินลุกลามสู่ภาคการผลิตและการจ้างงาน

ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศก็ยังส่อเค้ามีความขัดแย้งที่รุนแรงอยู่ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีเงินทุนไม่มาก และขาดการบริหารการจัดการที่ดี อาจต้องเลิกกิจการ หรือจำเป็นต้องปลดคนงานเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ

ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต จากเดิมที่ธุรกิจพึ่งพาการใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมาก ก็ต้องนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยในการลดต้นทุนสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ

“ในปีหน้าวิกฤตจะเกิดจากกำลังซื้อของคนทั่วโลกลดลง ทำให้มีการสั่งผลิตสินค้าลดลง ฉะนั้นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีตลาดส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ ต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้า ตั้งแต่การพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ การลดต้นทุนในการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต การหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ และการสร้าง ตราสินค้าของตนเองเพื่อเพิ่มกำไรให้มากขึ้น"นายนิพนธ์ กล่าว

ขณะที่ภาครัฐจะต้องเร่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเป็นเจ้าภาพรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหามาอยู่ในศูนย์เฉพาะกิจ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว จากเดิมการแก้ปัญหาต่างๆ ของภาครัฐจะเป็นไปแบบแต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำ ส่งผลให้ปัญหาหมักหมมจนยากเกินกว่าจะแก้ไขหรือขาดงบประมาณในการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม

ส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้มแข็งในระยะยาวนั้น ภาครัฐควรจัดตั้งสำนักวิจัยระบบอุตสาหกรรม เพื่อเป็นผู้นำในการทำวิจัยขีดความสามารถของแต่ละอุตสาหกรรม ใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า เพื่อแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ภาครัฐยังขาดข้อมูล ส่งผลให้อุตสาหกรรมของไทยในประเทศขาดทิศทางในการพัฒนาหรือขาดการสนับสนุน ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละภาคอุตสาหกรรมลดลงมาก

“ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการทำวิจัย ในการใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทางของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ และกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ของแต่ละภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ และยังใช้ฐานข้อมูลที่ดี เพื่อนำมาวางแผนในการแก้ปัญหาของแต่ละภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า" รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ