ว่าที่ ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ แนะทางรอดส่งออกหาตลาดใหม่-รักษาฐานการผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 23, 2008 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสำราญ ภูอนันตานนท์ อดีตที่ปรึกษา รมว.คลัง สมัย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกคาดหมายว่าจะเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ระบุว่า แนวโน้มการส่งออกที่เริ่มลดลงเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดการณ์ไว้อยู่แล้วจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก แต่การส่งออกในเดือนพ.ย.51 ที่ลดลงถึง 18% ถือเป็นการลดลงอย่างผิดปกติเกินกว่าที่คาดกันไว้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเช่นนี้ เนื่องจากหลายประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักหรือตลาดรองต่างประสบปัญหาการบริโภคในประเทศชะลอตัว ซึ่งส่งกระทบต่อเนื่องไปถึงธุรกิจรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนสถาบันการเงินต่างๆ ด้วยเช่นกัน

"เรื่องส่งออกที่ลดลงเราคาดกันไว้อยู่แล้ว แต่ลดลงถึง 18% นี่สูงผิดปกติและเร็วมากเกินไป คาดว่าจะเป็นผลจากการปิดสนามบิน ทำให้ตัวเลขส่งออกดร็อปเร็วกว่าที่คาดไว้และจะมีแนวโน้มในลักษณะนี้ต่อไปอีก เพราะถ้าดูตลาดโลก เช่น อเมริกาที่การบริโภคในประเทศไตรมาส 2 และ 3 จะลดลงเกือบ 20% รถยนต์ลดไป 30-40% บ้านจัดสรร, สถาบันการเงินก็ยังมีปัญหา ส่วนญี่ปุ่นจีดีพีติดลบ" นายสำราญ กล่าวในรายการวิทยุเช้านี้

อดีตที่ปรึกษา รมว.คลัง เห็นว่าแนวทางการแก้ไขมี 2 กรณี กรณีแรกคือในกลุ่มสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรมบางประเภทที่ไทยมีจุดแข็งหรือได้เปรียบนั้นจำเป็นจะต้องเร่งหาตลาดใหม่ สร้างทีมงานรุกตลาด และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหาร

ส่วนกรณีที่ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าของต่างประเทศนั้น จะต้องพยายามรักษาให้ไทยยังเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกให้ได้ ซึ่งจุดนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการและการส่งออก เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ที่ต้องหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการและจูงใจให้ยังใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกต่อไป

"ปัญหาคือเราจะทำอย่างไรให้ฐานการผลิตของเรายังสามารถเป็นฐานการส่งออกได้ บางกลุ่มสินค้าผมมองว่าไม่ลดแต่กลับมีโน้มเพิ่มขึ้น ภาครัฐ คือกระทรวพาณิชย์ กระทรวการคลัง ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับบริการส่งออก ต้องช่วยให้เขาใช้ฐานการผลิตของเราส่งออกได้ โดยไปตัดฐานการผลิตที่อื่นแทน" นายสำราญ ระบุ

นายสำราญ ยังเชื่อว่า การประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้ผู้ประกอบการยังมีเวลาจะปรับตัวได้ ต่างจากวิกฤติในปี 40 ที่ผู้ประกอบการไม่ทันได้ตั้งตัว ซึ่งทางออกที่จะสามารถช่วยแก้ไขในระหว่างรอให้เศรษฐกิจฟื้นจากการปรับตัวของภาคธุรกิจนั้น ภาครัฐก็จะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้กระจายลงสู่ภูมิภาคอย่างรวดเร็วและทั่วถึง จุดนี้จะช่วยให้เกิดสภาพคล่องลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ความชัดเจนของการเร่งเดินหน้าลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์ต่างๆ จะช่วยส่งผลในเชิงจิตวิทยาให้แก่ภาคธุรกิจที่ต่อเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้า เช่น โครงการอสังหาริมทรัพย์ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า

"แทนที่จะมัวรองบ 1 แสนล้านบาทเข้าสภาฯ กระทรวงการคลังและรัฐบาลต้องเร่งใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน โครงการลงทุนของภาครัฐ อบต. หากเร่งตรงนี้จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง และส่งผลไปถึง SMEs ด้วยในเรื่องสภาพคล่องในตลาด พวกนี้ทำได้เลยทันที" นายสำราญ ระบุ

แต่ทั้งนี้นายสำราญ ได้ฝากไว้ว่าการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบจำเป็นต้องคำนึงถึงด้วยว่าจะต้องก่อให้เกิดผลผลิตกลับมาหรือไม่ ซึ่งต้องรู้จักเลือกใช้วิธีการอัดฉีดที่รวดเร็วและสร้างผลผลิตตอบแทนกลับมาด้วย

อย่างไรก็ดี นายสำราญ ไม่ได้ปฏิเสธว่าจะรับตำแหน่งในทีมที่ปรึกษาของ รมว.พาณิชย์ ด้วยหรือไม่ โดยกล่าวแต่เพียงว่า รมว.พาณิชย์ และพรรคพวกคนสนิทได้โทรศัพท์เข้ามาพูดคุยกันจริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ