"ปิยสวัสดิ์" แนะบริหารพลังงานช่วงน้ำมันลด-เสนอ 12 มาตรการเร่งด่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 24, 2008 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เสนอมาตรการในการบริหารพลังงาน 12 ข้อ ที่รัฐบาลควรดำเนินการเป็นเรื่องนโยบายเร่งด่วน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาพลังงานของประเทศในระยะยาว โดยมีการปรับโครงสร้างกิจการผลิตและการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กำหนดแนวทางในการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ใช้ ผู้ผลิตและประชาชนใกล้เคียงแหล่งผลิตพลังงาน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาและการใช้พลังงาน

"สถานการณ์ด้านพลังงานในปัจจุบันถือว่าเอื้ออำนวยต่อการบริหารงานด้านพลังงานมาก เพราะราคาน้ำมันลดลงสู่ระดับเมื่อสี่ปีที่แล้ว ทำให้รัฐบาลไม่ต้องวิตกกังวลต่อผลกระทบของราคาน้ำมันและปัญหาการเมืองจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น" นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าว

สำหรับมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย การเร่งส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยให้ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ละเว้นการแทรกแซงราคา เร่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำอุปกรณ์ และอาคาร, เร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศ โดยเร่งรัดการพิจารณาทบทวนและกำหนดส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าหรับ SPP และ VSPP ที่ใช้พลังงานทดแทน ซึ่งจะหมดเขตในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ให้เหมาะสม เช่น ขยายส่วนเพิ่มออกไปอีก 2 ปี แต่ลดการให้ส่วนเพิ่มสำหรับโครงการที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลัก,

เร่งบังคับใช้น้ำมันน้ำมันดีเซล B3 เนื่องจากสถานการณ์ความตึงตัวของน้ำมันปาล์มดิบได้ลดลดลงไปมาก อีกทั้งราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์มดิบได้ลดลงสู่ระดับที่ต่ำมาก จึงเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะเร่งการบังคับใช้ B3, B4 และ B5 โดยกำหนดให้น้ำมันดีเซล B3 เป็นมาตรฐานบังคับได้ตั้งแต่ 1 เม.ย.52 และขยับบังคับใช้ B4 และ B5 ตั้งแต่ 1 ม.ค.53 และ 1 ม.ค.54 ตามลำดับ,

เร่งส่งเสริมการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน โดยมีคำสั่งกำหนดเงินอุดหนุนสำหรับน้ำมันที่ผลิตจากขยะพลาสติก ซึ่งกำหนดเป็นนโยบายไว้ที่ 7 บาทต่อลิตร ตั้งแต่เดือน ม.ค.51 แต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้,

เร่งพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานรัฐจำเป็นต้องกระจายแหล่งพลังงาน โดยทำการศึกษาในรายละเอียดให้แล้วเสร็จ ยกร่างกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ การสร้างความเข้าใจ การหาสถานที่ตั้ง และการเตรียมบุคคลากร ซึ่งในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน พลังงานนิวเคลียร์จะช่วยให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเรือนกระจกลดลงได้อย่างเห็นผล,

ลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) เนื่องจากราคาในตลาดโลกได้ลดลงจากระดับสูงสุดที่ US$924 ต่อตันในเดือน ก.ค.51 เหลือ US$338 ต่อตันในเดือน ธ.ค.51 หรือ 11.7 บาทต่อกิโลกรัม โดยรัฐควรกำหนดสูตรราคา ณ โรงกลั่นที่ชัดเจน รวมทั้งยกเลิกแนวนโยบายในการกำหนดราคา LPG 2 ราคา,

ปรับราคาขายปลีกก๊าซธรมชาติ(CNG) ตามเกณฑ์ที่ กพช.ได้อนุมัติไปแล้ว เพราะราคาในปัจจุบันถูกเกินควรจากการอุดหนุน แม้ว่าจะปรับราคาแล้วก็ยังถูกกว่า LPG และดีเซล,

ปรับภาษีสรรพสามิตน้ำมันสู่ระดับเดิมทันที ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อราคาขายปลีกบ้าง แต่รัฐสามารถบรรเทาผลกระทบโดยการลดการเก็บเงินกองทุนน้ำมันสำหรับแก๊สโซฮอล์และดีเซลในอัตรา 1.70 บาทต่อลิตร ซึ่งเมื่อประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมากในช่วงสองวันที่ผ่านมาจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และราคาดีเซลไม่เพิ่มขึ้นเลย,

กำกับดูแลราคาขายปลีกน้ำมันและค่าการตลาด โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง,

ไม่ควรเพิกถอน ปตท. ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่กำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลเพื่อให้เป็นธรรมแก่บริโภคและผู้ลงทุน ซึ่งต้องเร่งดำเนินการคือการออกกฎเกณฑ์ และระเบียบต่างๆ ในการกำกับดูแลกิจการก๊าซธรรมชาติของ ปตท. เพื่อให้การประกอบธุรกิจ การกำหนดราคาและเงื่อนไขในการจำหน่ายก๊าซฯ มีความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เป็นการสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม มีคุณภาพบริการที่ดี,

เร่งรัดการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ โดยเร่งพิจารณาอนุมัติแปลงสัมปทานที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการปิโตรเลียมแล้วภายใน 1 เดือน เพื่อให้การสำรวจและเร่งขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ของประเทศเกิดขึ้นได้โดยเร็ว,

เร่งการออกกฎเกณฑ์ และระเบียบต่างๆ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้มีการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง,

เร่งระบบขนส่งมวลชนและรถไฟรางคู่ โดยการสร้างความเข้าใจให้เป็นที่ยอมรับของพนักงานและผู้บริหาร เพื่อปรับปรุงการรถไฟแห่งประเทศไทยให้สามารถผลักดันโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ

กำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับปัญหาภาวะโลกร้อน เพราะการเตรียมพร้อมตั้งแต่บัดนี้เป็นเรื่องสำคัญ มาตรการที่รัฐเริ่มมาแล้วด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ และการประหยัดพลังงานถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่คาดว่าไม่พอ และจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ