(เพิ่มเติม) รมว.พาณิชย์มอบ 4 นโยบายเร่งด่วน ตั้ง 15 ที่ปรึกษาแก้ปัญหาศก.ใน 3 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 24, 2008 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ได้มอบนโยบายสำคัญ 4 ข้อให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นงานเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศภายใน 3 เดือน ประกอบด้วย การดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยจะดูแลให้ราคาสินค้าสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง, การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่รัฐบาลอาจจะต้องเข้าไปแทรกแซงราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม, การส่งเสริมการส่งออกเพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถขยายตลาดได้มากขึ้น และการเตรียมประชุมเรื่องข้อตกลงและเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ

"มั่นใจว่าใน 3 เดือนจะต้องเห็นผล โดยเฉพาะเรื่องการลดราคาสินค้า แต่หากยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร จะหามาตรการที่มีประสิทธิภาพเข้ามาเสริม แต่ไม่ได้ขีดเส้นการทำงานของตัวเองว่าจะทำให้สำเร็จภายในเวลาเท่าไร แต่จะทำงานให้ดีที่สุด ขอโอกาสทำงานก่อน" รมว.พาณิชย์ กล่าวในการเข้ารับตำแหน่งเป็นวันแรก

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จากที่ได้หารือกับผู้ส่งออกทราบว่ามีปัญหาสำคัญ 2 เรื่อง คือ ปัญหาการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ทั้งนี้จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อขอให้ช่วยประสานกับธนาคารพาณิชย์ในเรื่องการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ส่งออก รวมทั้งดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากจนเกินไป ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่มีปัญหาทางการเงินแล้ว เชื่อว่าการส่งออกในปีหน้ามีโอกาสจะไม่ติดลบตามที่หลายฝ่ายกังวลกัน

พร้อมกันนี้ ยังได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาทั้งหมด 15 คน เพื่อเข้ามาช่วยดูแลและให้คำปรึกษางานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มภารกิจด้านการจัดการผู้บริโภค, กลุ่มภารกิจด้านการจัดการสินค้าเกษตร, กลุ่มภารกิจด้านส่งเสริมการส่งออกและเจรจาการค้า และกลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาธุรกิจ

โดยทีมที่ปรึกษาของ รมว.พาณิชย์ ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน, นายพิษณุ เหรียญมหาสาร, นายสมภพ มานะรังสรรค์, นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, นายพิมล ศรีวิกรม์, นายไชยา ยิ้มวิไล, นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์, นายสำราญ ภูอนันตานนท์ เป็นต้น รวมถึงแต่งตั้งนายบุญยิ่ง นิติกาญจนา เป็นที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ และนายประพล มิลินทจินดา เป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์

ขณะที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านบาท จากงบประมาณกลาง 100,000 ล้านบาท มาดำเนินงานในส่วนของทูตพาณิชย์ที่จะตั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าใหม่อีกประมาณ 50 แห่ง โดยเน้นตลาดใหม่มากกว่า ทั้งแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก เป็นต้น คาดว่าจะใช้งบประมาณแห่งละ 20 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ไทยมีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศแล้ว 60 แห่ง

"แนวทางดังกล่าวจะหารือกับ รมว.พาณิชย์ ก่อน และจะเสนอ ครม.ให้อนุมัติงบประมาณ โดยการแต่งตั้งทูตพาณิชย์ใหม่จะต้องทำให้เสร็จภายใน 2-3 เดือน ซึ่งทำได้ไม่ยากเพราะเป็นการแต่งตั้งข้าราชการของกระทรวงพาณิชย์แล้วส่งไปประจำที่ประเทศต่างๆ ไม่ต้องขออนุมัติอัตราบุคลากรจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพิ่มเติม" นายอลงกรณ์ กล่าว

สำหรับทูตพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นมาจะเป็นการทำงานแบบทดลองก่อน โดยช่วงแรกจะไม่ตั้งเป็นสำนักงานถาวร แต่หากประสบความสำเร็จก็จะยกระดับขึ้นมาเป็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศถาวร ลักษณะการทำงานจะเป็นไปบุกเจาะตลาดส่งออก สนับสนุนผู้ส่งออกไทย และต้องกำหนดแผนงานที่จะผลักดันการส่งออกมาเสนอกระทรวงพาณิชย์ เพื่อจัดให้มีคณะรัฐมนตรี และทีมไทยแลนด์ ออกไปโรดโชว์ยังประเทศนั้นๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าไทยได้

นอกจากนี้ จะผลักดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นแกนหลักในการจัดทำแพ็กกิ้งเครดิตวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมสนับสนุน เพื่อปล่อยกู้ให้ผู้ส่งออก และจะผลักดันรัฐบาลอนุมัติวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) เพื่อใช้ประกันความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออกด้วย โดยเชื่อว่าแผนงานดังกล่าว หากสามารถดำเนินการได้เป็นรูปธรรมจะทำให้ยอดการส่งออกสินค้าไทยในปี 52 ขยายตัวได้มากกว่า 5% อย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ