นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า สศค.เตรียมนำเสนอไปยังนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง พิจารณาแนวทางการใช้นโยบายการคลังในปีงบประมาณ 52 เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวงเงิน 390,000 ล้านบาท
วงเงินดังกล่าวนั้น ส่วนแรกมาจากการจัดทำงบประมาณกลางปีวงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้อยู่แล้ว และ การกู้เงินของรัฐวิสาหกิจ โดยที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย หรือคิดเป็นวงเงิน 387,000 ล้านบาท ในส่วนนี้เดิมได้มีการวางกรอบการค้ำประกันไว้แล้ว 267,000 ล้านบาท จึงยังเหลือวงเงินที่จะค้ำประกันเพิ่มได้อีก 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่บความต้องการใช้เงินของรัฐวิสาหกิจ
รวมทั้ง การกู้เงินต่างประเทศของรัฐบาลเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 10% ของวงเงินงบประมาณ หรือเป็นวงเงิน 183,500 ล้านบาท ขณะนี้มีข้อตกลงการกู้เงินกับธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเซียเป็น program loan วงเงิน 35,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็คต์ ยังเหลือเพดานกู้เงินต่างประเทศได้อีก 140,000 ล้านบาท
การกู้เงินของคลังเพื่อนำมาปล่อยกู้ต่อ มีเพดานที่ 20% ของเงินงบประมาณ ขณะนี้ยังเหลือวงเงินที่จะกู้ได้อีก 50,000 ล้านบาท โดยคลังอาจดำเนินการให้กู้ต่อในลักษณะเงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรน (ซอฟท์โลน) ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อไปปล่อยกู้ต่อให้เกษตรกร
"ช่องทางทั้งหมดรัฐบาลสามารถทำได้หมดพร้อมกัน แต่ต้องชี้แจงต่อประชาชนต่อสื่อได้ว่าจะนำเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง ต้องเลือกใช้เงินในโครงการที่เกิดประโยชน์จริง...อาจมีผลให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นบ้าง แต่ยังไม่ได้ประเมินว่าจะทำให้เกิน 50%ต่อจีดีพีหรือไม่ แต่หากจะเกิน ก็ถือว่ายอมรับได้ เพราะเป็นช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ"นายสมชัย กล่าว
ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวอีกว่า เป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจหลังเกิดภาวะขาดดุลบัญชีแฝด คือการขาดดุลการคลังและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งปี 51 คาดว่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.5% ของจีดีพี แม้จะยังอยู่ระดับไม่สูงมาก แต่ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ระวัง หากดุลบัญชีเดินสะพัดสูงก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเกิน 2.5% ของจีดีพี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม เพื่อให้ขาดดุลบัญชีน้อยสะพัดน้อยลง
" คลังไม่ได้บอกว่า ให้แบงก์ชาติทำบาทอ่อน แต่อยากให้เงินบาทอ่อนค่าใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเค้าอ่อนเราก็ต้องอ่อนใกล้เคียงเขา ถ้าเงินภูมิภาคแข็งค่าเราก็ต้องแข็งค่าตาม" ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว
ส่วนเศรษฐกิจปี 52 ที่ประเมินไว้ที่ 0-2% เนื่องจากเป็นช่วงที่ปัจจัยต่างๆ มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทย ดังนั้น หากต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวที่ 2% รัฐบาลจะต้องใช้นโยบายต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งการเงินการคลัง อัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไตรมาส 4/51 ที่คาดว่าจะติดลบ 2-3% และคาดว่าไตรมาส 1/52 เศรษฐกิจไทยมีโอกาสติดลบต่อเนื่องเช่นกัน แต่ยังไม่เรียกว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะยังเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ขณะที่เศรษฐกิจปี 52 ที่ชะลอตัว คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการว่างงานประมาณ 1 ล้านคน เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวลดลงทุก ๆ 1% จะส่งผลให้เกิดการว่างงานราว 3 แสนคน
"ยอมรับว่าหากเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ที่ยังมองว่ายังไม่ใช่ เพราะยังไม่เกิดขึ้นจริง ไตรมาส 1 ปีหน้ายังเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น" นายสมชัย กล่าว