นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า สัญญาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง โดยคาดว่าจีดีพีไตรมาส 1/52 จะติดลบ 1-2% ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีนี้ที่จะติดลบไม่ต่ำกว่า 1% เพราะภาพรวมการส่งออก การบริโภคภายในยังไม่ฟื้นตัว ที่สำคัญประชาชนยังไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการเมืองได้ ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาโดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะคงพึ่งพาการส่งออกได้ยาก
ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลชุดใหม่ว่า ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มองเสถียรภาพทางการเมืองและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าอยู่ในระดับปานกลาง รวมถึงมองว่าการสร้างความเชื่อมั่นในทุกภาคส่วนยังมีน้อยถึงน้อยที่สุด โดยเห็นว่าปัญหาที่รัฐบาลควรแก้ไขมากที่สุด คือ ปัญหาเศรษฐกิจ, เสถียรภาพทางการเมือง และปัญหาสังคม
ส่วนผลสำรวจสภาพคล่องของธุรกิจ 400 รายพบว่า ภาคธุรกิจถึง 73% กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จากปัญหาสำคัญคือ ยอดคำสั่งซื้อลดลง, ต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น, ปัญหาแหล่งเงินกู้ปล่อยสินเชื่อ ส่วนที่เหลืออีก 27% ระบุว่าแม้จะไม่ประสบปัญหาสภาพคล่อง แต่หากไม่ได้รับการเยียวยาภายใน 3-6 เดือน ก็จะประสบปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา
ทั้งนี้ภาคธุรกิจต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากขณะนี้การพึ่งแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ทำได้ยาก โดยรัฐบาลควรเร่งออกมาตรการ เช่น ลดดอกเบี้ย, ให้ธนาคารปล่อยกู้ง่ายขึ้น, ยืดเวลาชำระหนี้, สนับสนุนเงินลงทุนต้นทุนต่ำ, ส่งเสริมความเชื่อมั่นด้านลงทุนท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
"ธุรกิจทุกขนาดประสบปัญหาทั้งหมด ไม่ว่าจะขนาดย่อม กลาง หรือใหญ่ ส่งผลให้ขณะนี้ธุรกิจกว่า 20-24% มีปัญหาการผ่อนชำระไม่ตรงเวลา หยุดชำระเงิน เจรจาขอผ่อนผันการกู้ และขายทรัพย์สินเพื่อใช้ผ่อนชำระ แต่ส่วนใหญ่ยังพึ่งเงินออม และขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อผ่อนชำระอยู่ ส่วนแนวโน้มการขอสินเชื่อมีถึง 65.4% ซึ่งเป็นการขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ไม่ใช่ขอกู้เพื่อนำไปลงทุนใหม่" นางเสาวณีย์ กล่าว