รมว.พาณิชย์ ขอสหรัฐช่วยแจงนักลงทุนเลิกกังวลไทย หลังมีรัฐบาลใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 26, 2008 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของนายเอริค จี.จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ว่า ได้ร้องขอให้ทูตสหรัฐฯเป็นกระบอกเสียงของไทย ช่วยชี้แจงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวชาวสหรัฐฯว่า ขณะนี้สถานการณ์การเมืองในไทยไม่มีความวุ่นวายแล้ว หลังจากมีรัฐบาลใหม่ ที่มีเสถียรภาพมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้ทูตสหรัฐฯช่วยดูแลเรื่องต่างๆ ที่ไทยยังมีความกังวล และเป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ทั้งเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา การให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) การนำเข้าเพชร พลอยที่มีแหล่งกำเนิดจากพม่า หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้สหรัฐฯออกมาตรการคว่ำบาตรพม่า และอาจทำให้การส่งออกเพชรพลอยของไทยได้รับผลกระทบด้วย

ทั้งนี้ รวมถึงขอให้สหรัฐฯผ่อนปรนการนำเข้าหนังจระเข้และผลิตภัณฑ์ หลังจากสหรัฐฯได้ออกประกาศห้ามนำเข้าหนังจระเข้และผลิตภัณฑ์จระเข้บางสายพันธุ์ ซึ่งไทยยืนยันว่า หนังจระเข้และผลิตภัณฑ์ของไทยเป็นจระเข้เลี้ยง ไม่ได้จับจากธรรมชาติ ดังนั้น จะไม่ปัญหาการสูญพันธุ์แน่นอน

นางพรทิวา กล่าวต่อว่า ยังได้ขอให้สหรัฐฯเร่งรัดการคืนพันธบัตรค้ำประกันสินค้ากุ้งที่ถูกสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีการทุ่มตลาด (เอดี) ให้กับผู้ส่งออกไทยโดยเร็ว เพราะผู้ส่งออกไทยได้วางพันธบัตรไว้เป็นจำนวนมาก และเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ศุลกากรสหรัฐฯยังไม่ได้คืนพันธบัตรดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ส่งออกกุ้งของไทยขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจแล้ว

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้ชี้แจงให้ทูตสหรัฐฯเข้าใจว่า หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการปราบปราการละเมิด โดยให้อำนาจกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการจับกุมผู้ละเมิดได้ด้วย รวมถึงจะแต่งตั้งหน่วยปราบปรามพิเศษ เพื่อออกปฏิบัติการตรวจจับอย่างเต็มที่ด้วย

ส่วนการบังคับใช้สิทธิผลิตหรือนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตร (ซีแอล) นั้น ได้ชี้แจงว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงยาราคาแพงได้ จึงยังอาจต้องประกาศใช้ซีแอล แต่ก่อนจะประกาศใช้ จะทำความเข้าใจกับเจ้าของสิทธิก่อนทุกครั้ง

"ที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญายังไม่โปร่งใส มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ ทำให้การปราบปรามทำได้ไม่เต็มที่ จึงต้องการให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ และโปร่งใสมากขึ้น ไม่มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ และจะออกตรวจจับการละเมิดอย่างเข้มงวด " นายอลงกรณ์กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ