In Focusเลาะตะเข็บเศรษฐกิจโลกปีหนูผี จับตาชาติมหาอำนาจดิ้นใช้มาตรการกู้ซาก

ข่าวต่างประเทศ Monday December 29, 2008 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เหลือเวลาอีกเพียง 2 วัน ปีพ.ศ.2551 ก็จะหมดลง เส้นทางเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปลายปีเต็มไปด้วยขวากหนามและความเจ็บปวด สถาบันการเงินและบริษัทเอกชนล้มละลายกันแบบระเนระนาด พนักงานบริษัททั่วโลกถูกคำสั่งปลดฟ้าผ่ากันไม่เว้นแต่ละวัน...เคนเน็ท โรกอฟฟ์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อดีตหัวหน้านักเศรษฐ ศาสตร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่าวิกฤตการณ์ที่เปรียบเสมือนพิษที่พ่นใส่เศรษฐกิจโลกครั้งนี้มีต้นตอมาจากปัญหาในตลาดซับไพรม์ของสหรัฐ หรือการปล่อยกู้แก่ผู้ที่มีความสามารถชำระหนี้เงินกู้คืนต่ำกว่ามาตรฐานระบบการปล่อยสินเชื่อแบบซับไพรม์ อธิบายง่ายๆได้ว่า "ใครจนที่สุดก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงที่สุด" ซึ่งในช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำนับจากปีพ.ศ.2544 เป็นต้นมา ผู้กู้ที่อยู่ในกลุ่ม Subprime Borrowers ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าลูกค้า Prime Borrowers ถึง 2-3 เท่า เมื่อก่อนนี้หากพวกผู้กู้ในกลุ่มซับไพรม์ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดไปบ้าง ก็ยังไม่กระเทือนอะไรเพราะราคาบ้านพุ่งขึ้นรวดเร็วมาก ทำให้ทั้งธนาคารและผู้กู้ต่างก็มั่นใจว่าไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น สามารถขายบ้านมาคืนเงินได้เต็มจำนวนเพราะบ้านแพงขึ้นเรื่อยๆ....แต่เมื่อมาถึงจุดที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลง ดอกเบี้ยสูงขึ้น ทุกอย่างก็จบเห่

จากนั้นพิษซับไพรม์ก็ค่อยๆกระจายไปยังส่วนต่างๆของระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ลุกลามเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก สถาบันการเงิน วาณิชธนกิจ และธนาคารพาณิชย์ที่เคยมือเติบกับการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถึงคราวกระอักเลือดในปีนี้ เมื่อพิษเข้าถึงหัวใจ ซ้ำร้ายมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งวูบตลอดปี ไม่ว่าประเทศมหาอำนาจทั้งหลายจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบมากเท่าใด ก็สยบพิษร้ายไว้ได้ชั่วคราวเท่านั้น วิกฤติการเงินต้มยำกุ้งในเอเชียเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ว่าแน่ๆ ยังต้องหลบให้กับวิกฤตครั้งนี้ที่ฉุดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มรูปแบบ ที่เห็นชัดเจนก็คือสถานการณ์ในตลาดน้ำมัน NYMEX นักลงทุนกระหน่ำสัญญาน้ำมันอย่างดุเดือด ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงไปต่ำกว่าระดับ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากที่เคยพุ่งกระฉุดกว่า 147 ดอลลาร์/บาร์เรลในช่วงไตรมาสแรก เพราะต่างก็เชื่อว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะต้องนอนซมพักฟื้นไปอีกยาว

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินระดับหัวแถวมองว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกปีนี้เข้าข่าย "Great Depression" เพราะมีข่าวร้ายออกมาเขย่าขวัญสั่นประสาทเป็นระลอกๆ ไล่ตั้งแต่การล้มละลายของแฟนนีเมและเฟรดดี้แมค สองบริษัทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งชาติภายใต้การดูแลของรัฐบาลสหรัฐ จนถึง เลห์แมน บราเธอร์ วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ ที่ต้องม้วนเสื่อหลังยืนยงเป็นสัญลักษณ์แห่งโลกทุนนิยมมากว่า 158 ปี ต่อด้วยบริษัทประกันอันดับหนึ่งของโลก อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (เอไอจี) ที่สั่นคลอนจนรัฐบาลสหรัฐต้องรีบควักเงินมหาศาลโอบอุ้มกิจการ...การล้มของวาณิชธนกิจระดับโลกอย่าง เลห์แมน บราเธอร์ส ถือเป็นหลักฐานยืนยันว่า "ฟองสบู่อเมริกัน" แตกอย่างเป็นทางการแล้ว หากย้อนรอยกลับไปดูจะเห็นว่านับตั้งแต่การล้มครืนของเลห์แมน บราเธอร์ส ผลข้างเคียงจากวิกฤติฟองสบู่แตกในสหรัฐก็ส่งแรงกระเพื่อมลุกลามกลายเป็นคลื่นยักษ์ที่ซัดข้ามทวีปไปขึ้นฝั่งยุโรป จนธนาคารในยุโรปหลายแห่งล้มละลายหรือไม่ก็ปิดตัวเองเพื่อหนีตาย รวมถึงธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง ฟอร์ติส

เมื่อฟองสบู่แตกโพละ หลายคนก็ชี้นิ้วหาจำเลยกันวุ่นไปหมด หลายนิ้วชี้ไปที่คุณปู่อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์แห่งตลาดทุนตลาดเงิน ว่ามีส่วนในปัญหา Great Depression เพราะกรีนสแปนเป็นตัวตั้งตัวตีสนับสนุนมาตรกการลดกฎเกณฑ์ (Deregulation) เพื่อการแข่งขันเสรี (Liberalization) มาตลอด 3 ทศวรรษ...วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ทำให้กรีนสแปนถึงกับช็อค ว่า กลไกตลาดที่เขามีความเชื่อเสมอมาว่าจะช่วยควบคุมและแก้ไขปัญหาได้นั้น กลับไม่เวิร์ค และกลายเป็นส่วนของปัญหาไป จนทำให้กรีนสแปนออกมายอมรับผ่านสื่อมวลชนว่า ระบบกลไกตลาดเสรีที่เขาสนับสนุนจนสุดลิ่มทิ่มประตู มีข้อบกพร่องจนเป็นต้นเหตุของสิ่งที่เขาเรียกว่า "สึนามิการเงิน ที่ร้อยปีจะเกิดขึ้นสักครั้ง" และยอมรับว่านโยบายของเขา โดยเฉพาะนโยบายดอกเบี้ยต่ำที่บังคับใช้เป็นเวลาที่ยาวนานเกินไปนั้น มีส่วนทำให้ปัญหาลูกโป่งเศรษฐกิจแตกในรอบนี้...การยอมรับของกรีนสแปนสร้างความฮือฮาไปทั่วตลาดการเงินทั่วโลก เพราะสิ่งนี้สะท้อนถึงจุดอ่อนของทุนนิยมอเมริกา แต่ที่เจ็บปวดยิ่งกว่าคือกรีนสแปนเป็นคนการันตี "ความล้มเหลว" ของทุนนิยมเสรีด้วยตัวเอง

อย่าคิดว่าพิษเศรษฐกิจจะพ่นใส่แต่ในอุตสาหกรรมการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่มันยังลุกลามเข้าไปสร้างความเสียหายยังภาคส่วนอื่นๆ และที่ถูกกระทบอย่างหนักหนาสาหัสในเวลานี้ก็คือ "อุตสาหกรรมรถยนต์" นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ปีพ.ศ.2551 เป็นปีฌาปนกิจอุตสาหกรรมรถยนต์โลก เพราะในช่วงสิ้นสุดปีพ.ศ. 2550 บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ยังคงรักษาแชมป์ค่ายรถที่มียอดขายสูงสุด ขณะที่โตโยต้า มอเตอร์ ครองแชมป์อันดับ 1 ในด้านการผลิต แต่ในช่วงปลายปี 2551 จีเอ็มกำลังจะกลายเป็นค่ายรถที่เสี่ยงจะล้มละลายมากที่สุด ขณะที่โตโยต้าก็ส่อเค้าว่าอาจเผชิญกับการขาดทุนด้านการดำเนินงานครั้งแรกนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2484

หนังคนละม้วนที่เกิดขึ้นกับจีเอ็มและโตโยต้าภายในระยะเวลาเพียง 365 วันได้สร้างความประหลาดใจให้กับคนจำนวนมากว่า เกิดอะไรขึ้นในปีหนูไฟ ร้อนถึงบรรดาซีอีโอค่ายรถยนต์บิ๊กทรีอันประกอบไปด้วยจีเอ็ม,ฟอร์ด และไครสเลอร์ ต้องวิ่งวุ่นขอเงินกู้ฉุกเฉินจากสภาคองเกรสสหรัฐ ซึ่งในเบื้องต้นก็ถูกปฏิเสธ อีกทั้งยังถูกค่อนแคะอย่างเจ็บแสบเพราะเหล่าซีอีโอที่จมไม่ลงเหล่านี้นั่งเครื่องบินส่วนตัวมาขอกู้เงิน หลังจากคำร้องขอกู้เงินถูกชงเข้าสภาและถกเถียงกันอยู่พักใหญ่ ในที่สุดก่อนถึงเทศกาลคริสต์มาส ทำเนียบขาวก็ทำหน้าที่เป็นซานตาคลอสมอบของขวัญชิ้นใหญ่ให้กับค่ายจีเอ็มและไครสเลอร์ ด้วยการเจียดเงินกู้ออกจากคลัง 1.34 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงกิจการให้ไปถึงการขึ้นมารับไม้ต่อของว่าที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ใน เดือนม.ค. ปีหน้า

แม้วิกฤติของค่ายรถยนต์กลุ่มบิ๊กทรีจะได้รับการช่วยเหลือไปได้เปลาะหนึ่ง แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่มีคำว่าล้มละลายเกิดขึ้นในอนาคต เพราะจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยในสหรัฐและทั่วโลกและการเข้าถึงสินเชื่อของผู้บริโภคทำได้ยากยิ่งขึ้น ยังเป็นปัจจัยลบที่ฉุดให้ตลาดยานยนต์โลกส่อเค้าว่าจะยังคงอยู่ในช่วงขาลงต่อไป... เอริก เมอร์เกล นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์จากโครว์ ฮอร์เวิร์ด บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชื่อดังในสหรัฐกล่าวว่า "การล้มละลายของค่ายรถยนต์สหรัฐจะก่อให้เกิด"โดมิโนเอฟเฟกต์" ที่จะทำให้บรรดาซัพพลายเออร์และดีลเลอร์ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันอย่างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในที่สุดก็จะสั่นคลอนเศรษฐกิจทั้งระบบ

เศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอยกันถ้วนหน้าเช่นนี้ บีบให้รัฐบาลของประเทศทั่วโลกประกาศใช้มาตรการกู้วิกฤติอย่างเต็บสูบ ไม่ว่าจะเป็นการกระหน่ำลดอัตราดอกเบี้ย, ลดภาษี, อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ, ทำธุรกรรมสว็อปค่าเงินเพื่อระดมสกุลเงินดอลลาร์เข้าคลัง, ใช้นโยบายสกัดค่าเงินเพื่อกระตุ้นภาคส่งออก ฯลฯ ที่โดดเด่นที่สุดก็คงจะเป็นพี่เบิ้มอย่างสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป ที่ผุด "มาตรการกู้ซาก" ออกมาอย่างไม่ขาดสาย โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ได้เกิดมหกรรมหั่นดอกเบี้ยทั่วโลก โดยเฉพาะเฟดที่ทุ่มสุดตัวยอมลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Fed Fund Rate) ลงสู่ช่วง 0-0.25% จากนั้นธนาคารกลางส่วนใหญ่ก็แห่ลดดอกเบี้ยตาม รวมถึงธนาคารกลางจีน และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ส่อเค้าลุกลามไปอีกหลายปีข้างหน้าทำให้ผู้นำทั่วโลกนั่งไม่ติด โดยเฉพาะโอบามาที่รีบชูนโยบายเศรษฐกิจล่วงหน้าก่อนเข้าพิธีสาบานตนในเดือนม.ค. พร้อมกับพลิกวิกฤติของบุช เป็นโอกาสของตัวเอง ด้วยการค่อนแคะมาโดยตลอดว่า นโยบายเศรษฐกิจของบุชล้มเหลว ในยามที่ชาวอเมริกันถูกปลดจากงานออกมาเตะฝุ่นกันกว่า 5 แสนคนในเวลานี้ เป็นทีของโอบามาที่จะบลัฟรัฐบาลชุดเดิมด้วยการประกาศก้องว่า เขาจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ "ไม่เกินตัว" เพื่อที่หลายฝ่ายจะได้ไม่ต้องวิตกกังวลว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณจะพุ่งสูงขึ้นในระยะสั้น อีกทั้งจะให้ความสำคัญในลำดับต้นๆกับการรับมือกับตัวเลขว่างงาน, ภาวะตลาดสินเชื่อชะงักงัน, ราคาบ้านตกต่ำ และทุกสัญญาณที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ท่อนฮุคที่โอบามามั่นอกมั่นใจว่า จะชนะใจชาวอเมริกันที่สุดเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า "ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ไม่ได้ใช้มาตรการที่มีศักยภาพสูงพอที่จะเยียวยาตลาดอสังหาริมทรัพย์และลดจำนวนบ้านที่ถูกยึดได้ พวกท่านวางใจได้...แม้รัฐบาลชุดที่แล้วจะทำไม่สำเร็จ แต่ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขในรัฐบาลของผม ผมจะผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวขึ้นและจะทำทุกอย่างเพื่อให้สหรัฐสามารถกลับมาแข่งขันในตลาดโลกได้ ท่านจะได้เห็นสหรัฐอเมริกาที่แข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นมา"

ในช่วงเวลาที่นับถอยลาบอกลาปีหนูนั้น มี "โจทย์หิน" มากมายรออยู่ข้างหน้าที่รัฐบาลทั่วโลกต้องตอบให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนตกงานที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ต้องปรับปรับไลฟ์สไตล์ให้สามารถอยู่รอดได้ในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง ดูอย่างชาวญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นขาช็อปตัวเอ้ไม่แพ้ชาวอเมริกัน ก็เริ่มรัดเข็มขัดกันตัวกิ่ว ส่งผลให้แบรนด์แฟชั่นชั้นนำอย่าง ชาแนล และ ซัลวาทอเร แฟร์รากาโม มียอดขายดิ่งเหวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ทางบริษัทจะลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ขนาดไหนก็ตาม หรือแม้แต่นักเที่ยวชาวเกาหลีใต้ที่เมื่อก่อนดื่มเหล้านอกแบรนด์ดังหรูหรา แต่เดี๋ยวนี้เขาพร้อมใจกันกลับมาดื่มเหล้าโซยุแทน

แม้ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ฟันธงกันไว้แต่เนิ่นๆว่า ปีนี้เป็นแค่เผาหลอก..ปีหน้าเผาจริง แต่มีสัจธรรมข้อหนึ่งที่เป็นจริงเสมอก็คือ...มีวาระสำหรับทุกเรื่องราวภายใต้ฟ้านี้ มีวาระมืด และมีวาระสว่าง... มีวาระพังทลายลง และมีวาระถูกสร้างขึ้น ไม่ว่ามนุษยชาติจะเผชิญมรสุมทางเศรษฐกิจหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติมาหนักหนาสาหัสแค่ไหน แต่ในถ้ำที่มืดมักมีแสงสว่างน้อยๆเล็ดลอดเข้ามาเสมอ มนุษย์ล้วนอยู่ได้ด้วยความหวัง และความหวังได้พาพวกเราก้าวข้ามมหันตภัยทางเศรษฐกิจมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เราก็รอดอยู่ได้ ...ทีมข่าวต่างประเทศของอินโฟเควสท์ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆไปได้ เพราะทุกอย่างมีวาระของมันเอง และเมื่อวาระชื่นบานมาถึง ก็ขอให้เรารักษามันไว้อย่างรู้คุณค่าให้มากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ