กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆใช้มาตรการกระตุ้นด้านการเงินเชิงรุกและแบบฉุกเฉิน เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพในตลาดเงินและกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก ส่วนวิกฤตที่เกิดขึ้นจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกหลายไตรมาส เนื่องจากผลพวงที่เกิดขึ้นจากปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐ
ไอเอ็มเอฟระบุว่า วิธีการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้มาตรการที่แข็งกร้าวที่มีเป้าหมายพุ่งไปที่ธุรกิจไฟแนนซ์และเพิ่มดีมานด์ จังหวะเวลาและการลงมือทำถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นายโดมินิค สเตราส์ คาห์น ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจโลกต้องการมาตรการกระตุ้นทางการเงินมูลค่าประมาณ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก
วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ความต้องหารหดตัวลงและอาจจะหดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ช่วงพ.ศ.2473 หากความต้องการตกลงมากไปกว่านี้ ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงของเงินฝืด หนี้สูง และผลกระทบต่อธุริจการเงินมากขึ้น รัฐบาลนานาประเทศควรใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินมากกว่าปกติในช่วงนี้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวโดยพึ่งพาการส่งออกนั้นไม่ใช่ทางเลือกสำหรับทุกประเทศในโลก
นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังได้แนะนำให้มีการเพิ่มการใช้จ่ายและลดภาษี ลดภาษีทั่วไป หรือให้เงินชดเชยแก่ผู้บริโภคหรือบริษัทเอกชน เพื่อที่ผู้บริโภคและเอกชนจะได้รับผลกระทบที่น้อยลง โดยรัฐบาลควรจะเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการกระตุ้นหากพิจารณาแล้วว่าจำเป็น และกำหนดกรอบระยะเวลาในการลดขอบเขตการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อปัจจัยแวดล้อมต่างๆดีขึ้นแล้ว