กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)ในเดือน ธ.ค.51 อยู่ที่ 119.5 เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือน ธ.ค.50 แต่ลดลง 1.6% จากเดือน พ.ย.51 โดย CPI ทั้งปี 51 ขยายตัว 5.5%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ธ.ค.51 อยู่ที่ระดับ 108.2 เพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือน ธ.ค.50 แต่ลดลง 0.1% จากเดือน พ.ย.51 ส่วน Core CPI ทั้งปี 51 ขยายตัว 2.4%
สำหรับดัชนีสินค้าหมวดอาหารในเดือน ธ.ค.51 อยู่ที่ 142.8 เพิ่มขึ้น 13.9% จากเดือน ธ.ค.50 แต่ลดลง 1.5% จากเดือน พ.ย.51 ขณะที่ดัชนีสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารในเดือน ธ.ค.51 อยู่ที่ 106.0 ลดลง 8.0% จากเดือน ธ.ค.50 และลดลง 1.9% จากเดือน พ.ย.51
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยล่าสุดเงินเฟ้อเดือน พ.ย.51 ของแต่ละประเทศในภูมิภาคเป็นดังนี้ มาเลเซีย 5.7%, ฟิลิปปินส์ 9.9%, อินโดนีเซีย 11.7%, สิงคโปร์ 5.5% และเวียดนาม 24.2% เป็นต้น และขณะนี้ยังไม่เห็นถึงสัญญาณว่าจะเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นในประเทศไทย
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.51 ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียง 0.4% นั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่เดือน ส.ค.45 ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 0.3% โดยยังพบว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือน ธ.ค.51 ลดลงเหลือ 6.41% จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดในช่วงเดือนมิ.ย.51 ที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 11.67%
และเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.51 ลดลง 1.6% ถือเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวลดลงตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีผลจากราคาอาหารสดที่ราคาลดลง เช่น ผักและผลไม้ อันเนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลงทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก รวมถึงข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์เงินเฟ้อปี 52 ไว้ที่ 0-1.2% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35-36 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่หากรัฐบาลยกเลิก 6 มาตรการ 6 เดือน ที่จะสิ้นสุดลงในเดือน ม.ค.52ก็อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 52 ปรับสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้อีกเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เดือนม.ค.52 เป็นต้นไป กระทรวงพาณิชย์จะเพิ่มรายการสินค้าในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคเป็น 418 รายการ จากปัจจุบันที 374 รายการ โดยให้ครอบคลุมรายการสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น รวมถึงการปรับสินค้าบางรายการในการคำนวณดัชนีให้มีความทันสมัยมากขึ้น