นักเศรษฐศาสตร์จีนหวั่นปัญหาว่างงานจุดชนวนความไม่สงบ-เชื่อศก.ปีวัวขยายตัว 8.5%

ข่าวต่างประเทศ Monday January 5, 2009 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีนโดยนิตยสาร "Outlook Weekly" ซึ่งสำนักข่าวซินหัวได้นำมาเผยแพร่ชี้ว่า อัตราว่างงานที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินโลกอาจจะทำให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นในสังคมจีน แม้ว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 8% ก็ตาม

ฮั่น กัง รองประธานเนชั่นแนล สคูล ออฟ แอ็ดมินิสเตรชั่น ในปักกิ่ง เตือนว่า ตัวเลขการว่างงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของนักศึกษาจบใหม่และแรงงานในชนบทอาจจะทำให้เกิดเหตุความไม่สงบขึ้น ยกเว้นเสียแต่ว่าปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที และคาดว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะร่วงลงในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ แต่จะกลับมาทะยานขึ้นเหนือระดับ 8% ในเวลาต่อมา

ฮั่นกล่าวว่า อัตราว่างงานในหมู่นักศึกษาจบใหม่และแรงงานอพยพที่เกิดจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาลง และอุตสาหกรรมส่งออกที่หดตัวลงจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสังคมจีนในปีนี้ รวมถึงความเสี่ยงภายในสังคมด้วยเช่นกัน โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวนนั้น อาจจะไม่สามารถสร้างงานได้อย่างมีเสถียรภาพอย่างที่มีการคาดการณ์ไว้

ทางด้านหวาง เซียวกวาง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภายใต้สังกัดคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน กล่าวว่า ช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐนั้นเป็นปัจจัยที่ควบคุมการขยายตัวด้านธุรกิจส่งออกของจีนในระยะกลาง ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์รายอื่นๆ อาทิ เจีย กัง จากกระทรวงการคลังจีน กล่าวว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกคงจะออกมาในรูปแบบที่ไม่น่าพอใจนัก อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ยังคงเป็นบวก โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 8.5% ต่อปี

จาง หลี่กุน นักวิจัยจากศูนย์กลางวิจัยและพัฒนาของจีน กล่าวว่า นโยบายการบริหารเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันนั้น จะส่งผลเป็นรูปธรรมในช่วง 6 เดือนหน้า เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ควบคุมการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ร่วงลงอย่างเข้มงวด

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นจุดเปลี่ยน เนื่องจากนโยบายการเงินและเงินตราแบบผ่อนปรนจะค่อยๆส่งผลให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยอัตราการออมในระดับสูง ระบบการธนาคารที่มั่นคง ความต้องการในตลาดหลายระดับ และการเคลื่อนไหวของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัย 4 ข้อที่มีส่วนช่วยสนับสนุนแนวโน้มเศรษฐกิจของจีน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ