"โสภณ"ตั้งเป้าใน 6 เดือนเพิ่มขนส่งสินค้าทางรางเป็น 30% ช่วยลดต้นทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 5, 2009 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ตั้งเป้าภายในเวลา 6 เดือนจะเพิ่มสัดส่วนในการขนส่งสินค้าทางรางเป็น 30% จากเดิม 10% เพื่อจะลดต้นทุนสินค้าเกษตรและสินค้าภาคอุตสาหกรรม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)จะต้องวางแผนจัดจราจรทางรางให้มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะรองรับปริมาณการขนส่งดังกล่าว

พร้อมแต่งตั้งนายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงานดูแลด้านโลจิสติกส์ ขณะที่และด้านการขนส่งทางบก โดยตนเองเป็นประธาน

"ปัจจุบันรายได้ของ รฟท. ในการขนส่งผู้โดยสารเกือบจะไม่คุ้มทุน ดังนั้นรฟท.จะต้องเน้นการขนส่งสินค้าให้มากขึ้น ส่วนจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมเดินรถไฟด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลการศึกษา และผลการปฏิบัติว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่" นายโสภณ กล่าวหลังประชุมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม

ด้านนายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการ รฟท. กล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้บริหาร รฟท.เร่งไปจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่จะต้องเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรมว.คมนาคม ซึ่ง รฟท.จำเป็นต้องเร่งจัดหาแคร่ขนสินค้าโดยเร็ว

โดยจะเร่งรัดขั้นตอนการจัดหาแคร่ขนสินค้าหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติให้จัดซื้อไปแล้วประมาณ 300 คัน รวมทั้งจะต้องเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างทางคู่เฉพาะส่วนที่มีความจำเป็นก่อน 800 กม.ทั่วประเทศ เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าที่สะดวก รวดเร็ว

รมว.คมนาคม กล่าวถึงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าว่า การดำเนินงานยังคงเป็นไปตามขั้นตอนเดิม โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ อยู่ระหว่างการประกวดราคาหาตัวผู้รับจ้างก่อสร้างก็ยังคงดำเนินการต่อไป แต่นโยบายจะให้เร่งรัดขั้นตอนการทำงานให้ทันเวลาที่กำหนดตามแผนงาน

ส่วนโครงการเช่ารถโดยสารปรับอากาศใช้เอ็นจีวี จำนวน 4 พันคันนั้น ได้ขยายเวลาการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำทีโออาร์การประกวดราคาออกไปอีก เพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากทุกฝ่าย และหากสามารถตอบข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับความโปร่งใส และราคาค่าเช่าได้ก็จะให้ดำเนินการต่อไป

ส่วนด้านขนส่งทางบก รมว.คมนาคม กล่าวว่า มีแนวคิดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน 4 ช่องจราจร แต่จะต้องมีการปรับมาตรฐานการก่อสร้างให้เหมาะสมกับเงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยถนน 4 ช่องจราจรบางส่วนอาจต้องลดมาตรฐานไม่มีเกาะกลางถนน เพื่อที่จะประหยัดเงินลงทุนก่อสร้าง



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ