นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ในปี 52 ธปท.คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 0.5-2.5% โดยจะมีการประเมินตัวเลขใหม่อีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าหลังไตรมาส 3/52 เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ธปท.มองว่าช่วงครึ่งแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจจะยังไม่ดีนัก แต่เชื่อว่าตั้งแต่ไตรมาส 3 ไปแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้นหลังจากรัฐบาลวางมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดผลโดยเร็ว ซึ่งภายในเดือน ม.ค.นี้ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจะได้ประกาศออกมาเพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจของประเทศ
พร้อมให้ความมั่นใจว่าไทยจะไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.51 จะอยู่ในระดับต่ำที่ 0.4% เพราะรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเงินฝืด โดยจะเตรียมอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในจำนวนที่มากพอและดำเนินการอย่างรวดเร็ว
นายกรัฐมนตรี ยังเน้นให้ธปท.ทำงานอย่างมีอิสระและมีเอกภาพ พร้อมทั้งจับตาความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีได้นำคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเข้าพบกับผู้บริหาร ธปท.เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นด้านเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่า ธปท.มีบทบาทสำคัญในการดูแลและบริหารเศรษฐกิจ และมีสถานะพิเศษในฐานะที่เป็นธนาคารกลางที่ต้องดำรงความเป็นอิสระในการทำงาน ซึ่งวัตถุประสงค์ของการพารัฐมนตรีเศรษฐกิจเข้าพบกับผู้บริหาร ธปท.ในครั้งนี้นอกจากจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องปรับความเข้าใจในการทำงานที่ตรงกัน มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
"แม้ ธปท.จะมีสถานะพิเศษ แต่ก็ต้องมีเป้าหมายเดียวกับภาครัฐ...ปีที่ผ่านมาได้เห็นปัญหาการทำงาน การกระทบกระทั่งระหว่างหน่วยงานอื่นๆ กับ ธปท. ซึ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจและความรู้สึกของประชาชนไม่ตอบสนอง ดังนั้นจึงไม่ต้องการให้เห็นการทำงานที่เป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา การหารือวันนี้อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจทั้งการทำงานของ กนง. นโยบายการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน หากมีความเห็นไม่ตรงกันก็ต้องหารือเป็นการภายในเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นเอกภาพในการบริหารเศรษฐกิจ" นายกรัฐมนตรี ระบุ
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันได้มีความเห็นที่ตรงกันเกี่ยวกับผลกระทบของเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และรัฐบาลต้องการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชน ทั้งในเรื่องการจ้างงาน รายได้ของประชาชน ในขณะที่ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ หรือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังไม่ใช่ความเสี่ยงที่เป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าในขณะนี้
นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า การหารือครั้งนี้จะทำให้การดำเนินนโยบายการเงิน การคลังและการบริหารเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างราบรื่นบนพื้นฐานความเข้าใจที่ตรงกัน โดยยืนยันว่า ธปท.จะไม่มีปัญหาถูกแทรกแซงการทำงานจากฝ่ายการเมืองอย่างแน่นอน
พร้อมกันนี้ เชื่อว่าการที่ ผู้ว่าฯ ธปท.เป็นหนึ่งในคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจจะช่วยทำให้การติดตามปัญหาต่างๆ มีความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น และมีส่วนรับทราบถึงปัญหาต่างๆ เพื่อร่วมกันวางนโยบายแก้ไขปัญหาให้บรรลุเป้าหมายได้
สำหรับนโยบายดอกเบี้ยนั้น เป็นเรื่องที่ กนง.จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ แต่หาก ธปท.และรัฐบาลมีความเห็นที่ตรงกัน แนวโน้มการลดดอกเบี้ยก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ให้ผู้ที่รับผิดชอบเป็นผู้ตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสภาพคล่องในระบบขนาดนี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่ปริมาณเงินหรืออัตราดอกเบี้ย แต่เป็นปัญหาเรื่องการประเมินความเสี่ยงและการตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์ที่จะปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นกลไกที่ต้องแก้ไขให้ตรงจุด คือการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งรัฐบาลต้องพึ่งพาสถาบันการเงินของรัฐให้เข้ามาดูแล
"ดอกเบี้ยไม่ใช่ตัวผลักดันให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อ แต่ต้นทุนหลักมาจากความเสี่ยง ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะให้สินเชื่อเข้าสู่ระบบได้ ซึ่งจากบรรยากาศความกลัว และความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ ทำให้แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อและกระทบธุรกิจบ้างแล้ว" นายกรัฐมนตรี ระบุ
นอกจากนี้ การจัดหา Soft Loan จาก ธปท.มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม และรัฐบาลจะไม่ทำผิดกฎหมาย ดังนั้นนโยบายที่รัฐบาลจะทำ นอกจากงบประมาณกลางปีแล้ว ยังจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.), รัฐวิสาหกิจ และใช้กลไกของแบงก์รัฐในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เช่น ภาคเกษตร, SMEs เป็นต้น
นโยบายการบริหารเศรษฐกิจนั้นได้วางเป้าหมายที่ต้องให้น้ำหนักเท่ากันทั้งการดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตได้ อัตราเงินเฟ้อไม่สูง ขาดดุลงบประมาณไม่มาก และไม่กระทบฐานะการคลัง ส่วนนโยบายอ้ตราแลกเปลี่ยน ธปท.ต้องดูแลค่าเงินไม่ให้เกิดความผันผวนมาก แต่อย่าให้ฝืนตลาด และต้องไม่เสียความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันยังถือว่าสามารถแข่งขันได้
สำหรับเกณฑ์ Basel II ที่จะใช้กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่จะมีผลบังคับใช้ปลายปีนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่ข้อจำกัดในการที่ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อ ส่วนจะชะลอการบังคับใช้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ด ธปท.