ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 52 โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI)เป็นตัวเลขติดลบในเดือน ม.ค.ถ้าราคาน้ำมันในประเทศยังไม่มีการปรับขึ้นมากนัก แต่เงินเฟ้ออาจจะขยับสูงขึ้นในเดือน ก.พ. หลังจากสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันภายใต้ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทย ก่อนที่จะกลับมามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องไปจนถึงปลายไตรมาสที่ 2
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าช่วงครึ่งแรกของปี 52 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วง -1.7% ถึง -0.9% เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะคงอยู่ในระดับต่ำท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่เงินเฟ้อจะกลับมาสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 52 อาจจะลดลง 1.0% ถึงเพิ่มขึ้น 1.0% (-1.0 ถึง +1.0)
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI)ยังคงจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดช่วงครึ่งปีแรก และแนวโน้มค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีจะยังคงอยู่ในแดนบวก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 52 จะอยู่ที่ประมาณ 0.0-1.0% ลดลงจาก 2.3% ในปี 51
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะติดลบ แต่คาดว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะตกอยู่ในภาวะเงินฝืดเรื้อรัง หรือระดับเงินเฟ้อลดลงเป็นระยะเวลายาวนานนั้นคงเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย โดยแนวโน้มการลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่สูงมากในปี 51 โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ซึ่งผลดังกล่าวจะหมดไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พร้อมกับราคาน้ำมันที่จะเริ่มขยับขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เงินเฟ้อกลับมามีระดับที่สูงในช่วงไตรมาส 4/52
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวคงจะสร้างความลำบากให้กับการดำเนินนโยบายการเงินบ้างจากการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปผันผวนสูง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังค่อนข้างมีเสถียรภาพและตัวเลขเฉลี่ยทั้งปีน่าจะยังอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ 0.5-3.0%
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ ทิศทางราคาน้ำมัน ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้เริ่มขยับขึ้น เนื่องจากปัญหาในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังจากอิสราเอลโจมตีปาเลสไตน์ในเขตฉนวนกาซ่า หากการสู้รบยืดเยื้อหรือบานปลายอาจจะกดดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นได้ แม้คาดว่าราคาน้ำมันคงจะไม่ได้ทะยานขึ้นอย่างรุนแรง แต่ก็อาจจะยิ่งเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกให้จมลึกลงยิ่งขึ้น และการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้เวลายาวนานออกไปอีก ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกดดันต่อทิศทางเงินเฟ้อและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน