กระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานของบัลแกเรียรายงานว่า การจัดส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อส่งก๊าซจากรัสเซียให้แก่ บัลแกเรีย ตุรกี กรีซ และมาเซโดเนีย ถูกตัดขาดที่บริเวณชายแดนยูเครน-โรมาเนีย
แถลงการณ์ที่ออกโดยกระทรวงฯ ระบุว่า การจัดส่งก๊าซได้ยุติลงเมื่อเวลา 03.30 น.วันนี้ ด้าน ดิมิทาร์ โกกอฟ ซีอีโอของบริษัทบัลการ์ก๊าซ เจ้าของท่อส่งก๊าซในบัลแกเรีย กล่าวว่า บัลแกเรียมีก๊าซธรรมชาติสำรองพอใช้ต่อไปอีกไม่กี่วันเท่านั้น
ทั้งนี้ บริษัทก๊าซพร้อม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของรัสเซียได้จัดส่งก๊าซให้แก่ 4 ประเทศดังกล่าวผ่านทางบัลแกเรีย ปีละ 1.78 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ภายใต้สัญญาระยะเวลา 30 ปี ซึ่งลงนามร่วมกันเมื่อปีพ.ศ.2549 ซึ่งบัลแกเรียบริโภคก๊าซประมาณ 3.5 พันล้านลูกบาศก์เมตรของปริมาณดังกล่าว
ขณะที่ สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ฮิลมี กูเลอร์ รมว.พลังงานของตุรกี ได้ยืนยันว่า การจัดส่งก๊าซจากรัสเซียให้แก่ประเทศในยุโรปได้ยุติลงเมื่อช่วงเช้าตรู่วันนี้ โดยตุรกีพยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยการจัดหาก๊าซจากแหล่งอื่นเพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไป
สำหรับวิกฤตด้านพลังงานในยุโรปครั้งนี้เกิดขึ้น หลังจากที่บริษัท ก๊าซพรอม ของรัสเซีย และบริษัท นาฟโทก๊าซ ยูเครนี ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลยูเครน มีปัญหาขัดแย้งกันจนทำให้รัสเซียยุติการจัดส่งก๊าซให้กับยูเครนตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยก๊าซพรอมได้กล่าวหาบริษัทของยูเครนว่าลักลอบขโมยก๊าซและไม่ได้จ่ายเงินตามกำหนด ซึ่งความขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลกระทบต่ออุปทานก๊าซธรรมชาติที่มีการจัดส่งไปยังทวีปยุโรป