นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 52 อาจะขยายตัวได้ 3-5% จากที่ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนผู้ส่งออกมองว่าจะติดลบหรือไม่มีการขยายตัวเลย โดยเชื่อว่าหลังจากที่มีการจัดประชุมเวิร์คช็อปร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในวันนี้แล้ว ทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันวางแนวทางในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวได้ต่อไป แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว
ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ(เวิร์คช็อป) เพื่อจัดทำมาตรการเร่งด่วนกระตุ้นการส่งออกปี 52 ร่วมกับภาคเอกชนกลุ่มสินค้าต่างๆ และสินค้าบริการ 200 รายนั้น กระทรวงพาณิชย์จะใช้มาตรการเร่งด่วน 5 มาตรการ พร้อมด้วยการของบประมาณ 3,000 ล้านบาทจากงบกลาง 100,000 ล้านบาท มาใช้ดำเนินโครงการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ โดยมั่นใจว่าหลังจากใช้มาตรการกระตุ้นแล้ว จะทำให้การส่งออกที่ภาคเอกชนเคยประเมินว่าจะขยายตัวติดลบกลับมาเป็นบวกได้ 3-5% จากปี 51 ที่คาดขยายตัว 18% หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 180,000 ล้านบาท
"ที่ผ่านมา หลายๆ สำนักประเมินกันว่าการส่งออกในปีนี้ จะขยายตัวติดลบ และบ้างก็ว่าจะติดลบสูงเป็นตัวเลขสองหลัก ขณะที่เราเองก็คาดว่าจะติดลบ 3% หากไม่ได้ใช้เครื่องมืออะไรเลย แต่ถ้าขับเคลื่อนการส่งออกด้วยการใส่มาตรการ เพิ่มแรงกระตุ้นลงไป ก็จะทำให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ 3-5% อย่างแน่นอน ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะต้องทำให้สำเร็จภายใน 3 เดือน" นางพรทิวากล่าว
สำหรับ 5 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการด้านตัวสินค้า จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาตัวสินค้า ช่วยพัฒนาการสร้างแบรนด์สินค้า จัดตั้งสถาบันเฉพาะของธุรกิจบริการเพื่อพัฒนาศักยภาพให้มากขึ้น นำร่องที่ 3 สาขา ได้แก่ บันเทิง สุขภาพ และออกแบบก่อสร้าง รวมไปถึงการผลักดันโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกฉบับสมบูรณ์ โดยมีเป้าหมายให้ทุกบ้านของทุกประเทศมีอาหารไทย และวัตถุดิบอาหารไทย
2.มาตรการด้านราคา ต้นทุนสินค้า และสภาพคล่อง โดยจะช่วยดูแลภาษีวัตถุดิบของธุรกิจนำเข้า เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ส่งออก โดยเพิ่มการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) วงเงิน 10,000 ล้านบาท จัดตั้งกงองทุนประกันการส่งออก วงเงิน 5,000 ล้านบาท
3.มาตรการด้านการตลาด จะสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ภายใต้โครงการไทยแลนด์ เบสท์ เฟรนด์ โดยจะเชิญกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ทุกกลุ่มธุรกิจมาเป็นแขกพิเศษของรัฐบาลไทย และมอบเกียรติบัตรเป็น ไทยแลนด์ เบสท์ เฟรนด์ พร้อมมอบสิทธิประโยชน์มากมายในระหว่างที่อยู่เมืองไทย นอกจากนี้จะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัดทีมเศรษฐกิจไทยออกโรดโชว์ไปประเทศจีน ญี่ปุ่น อาเซียน และตะวันออกกลาง ช่วงเดือนก.พ.-เม.ย.2552 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ
4.มาตรการด้านการสื่อสารและสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทย จะเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทยภายใต้โครงการ ไทยแลนด์ แบรนด์ ให้เป็นที่ยอมรับ และ 5. มาตรการเสริมตามข้อเสนอของผู้ส่งออกที่มีปัญหาเรื่องขาดคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ชั่วคราว โดยจะนำสินค้ามาจัดจำหน่ายในงาน เมด อิน ไทยแลนด์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้คนไทยใช้สินค้าไทย ลดการนำเข้า
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า เดิมผู้ประกอบการประเมินตัวเลขส่งออกของแต่ละธุรกิจในอัตราติดลบหรือคงที่ แต่เมื่อมีการหารือและรับทราบมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมให้การช่วยเหลือ ทำให้ธุรกิจขยับตัวเลขการส่งออกใหม่ เช่น อาหารกระป่องจากเดิมบวก 5% เพิ่มเป็น 10% อิเลคโทรนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่มห่ม จาก 0% เป็น 2%, 2% และ 5% ตามลำดับ พลาสติกจาก 7% เป็น 10% สิ่งพิมพ์จาก 20% เป็น 25% เป็นต้น
ส่วนธุรกิจบริการ ที่มีมูลค่าส่งออกประมาณ 900,000 ล้านบาทนั้น จะตั้งเป้าหมายการขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 10% คาดว่าปีนี้ จะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านบาท
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เสนอว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในและส่งออกต้องบบูรณาการร่วมกันในทุกกระทรวงเศรษฐกิจ และกระทรวงพาณิชย์เป็นศูนย์ประสานและรวบรวมปัญหา และต้องคิดนอกกรอบและแตกต่างจากเดิม เพราะวิกฤตการในปี 52 แตกต่างกับปี 51 จะใช้มาตรการเดิมคงไม่เพียงพอ ที่สำคัญรัฐต้องแก้ปัญหาในเรื่องอุปสรรคและการขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ และผลักดันการเพิ่มมูลค่ารายได้จากธุรกิจและบริการที่มีโอกาส
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า เพื่อไม่ให้การส่งออกแย่ลงตลอด 6 เดือนนี้ ต้องเร่งการออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศ เจาะตลาดแบบปูพรม ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กกร.) เพื่อวางแผนงานในต่างประเทศ การเจรจาขายสินค้าผ่านโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ของโลกเป็นสิ่งที่ได้ผลระยะสั้น และต้องรักษาความแตกต่างอัตราแลกเปลี่ยนไม่เกิน 10% และไม่ให้เกิดการผันผวนสูง