นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)กล่าวว่า ธ.ก.ส.ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการ"แก้วิกฤตแรงงาน"ระหว่างสำนักงานประกันสังคม(สปส.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)เพื่อจัดโครงการสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาทรองรับปัญหาแรงงานคืนถิ่น และบัณฑิตจบใหม่ที่ตกงานที่ได้รับประโยชน์ 2.5 แสนราย เป็นวงเงินสินเชื่อสนับสนุนด้านเงินลงทุนและการฝึกอาชีพทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร และส่งเสริมผู้ร่วมโครงการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต
สำหรับวงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท แยกเป็นโครงการกู้วิกฤตแรงงานไทยคืนถิ่น เป็นวงเงินสินเชื่อ 4,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ เนื่องจากได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนประกันสังคมที่นำมาฝากที่ ธ.ก.ส.วงเงิน 4,000 ล้านบาท มีดอกเบี้ยเงินฝาก 1%วางเป้าหมายมีผู้เข้าโครงการ 1 แสนราย
ส่วนโครงการแก้ปัญหาว่างงานบัณฑิตจบใหม่ วงเงิน 6,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปกติ ปัจจุบันอยู่ที่ 7.25% ระยะเวลาชำระคืนหนี้ 5 ปี วางเป้าหมายมีผู้เข้าร่วมโครงการ 1.5 แสนราย
"การคิดดอกเบี้ยต่างกัน เนื่องจากโครงการกู้วิกฤติแรงงาน มีเงินฝากจากกองทุนประกันสังคม จึงช่วยลดดอกเบี้ยได้ แต่โครงการแก้ปัญหาว่างงานนักศึกษาจบใหม่ ใช้เงินทุนของธนาคารเอง ส่วนวงเงินให้สินเชื่อแต่ละรายเฉลี่ยที่ 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับหลักประกันและความสามารถชำระหนี้"นายเอ็นนู กล่าว
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ธ.ก.ส.เป็นสถาบันการเงินของรัฐที่มีเครือข่ายมาก และมีฐานสมาชิกจำนวนมาก ดังนั้น การสนับสนุนสินเชื่อในโครงการ"แก้วิกฤติแรงงาน"ถือเป็นโครงการนำร่องเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาแรงงานถูกเลิกจ้าง
และเชื่อว่าจะมีสถาบันการเงินของรัฐแห่งอื่นให้สินเชื่อเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน แต่อาจมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ที่จะมีการตั้งวงเงินประกันการส่งออกให้ผู้ประกอบการ เพื่อช่วยสร้างความสามารถการแข่งขันให้ผู้ส่งออก