พาณิชย์เล็งขอใช้งบ 6.3 หมื่นลบ.พยุงราคาสินค้าเกษตร 11 ตัวในปี 52

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 8, 2009 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ขออนุมัติงบประมาณ 63,300 ล้านบาทที่เหลือจากโครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรในสมัยรัฐบาลชุดก่อน เพื่อใช้ดูแลสินค้าเกษตรสำคัญ 11 รายการตามแผนงานปี 52 เพื่อไม่ให้ราคาตกต่ำ ได้แก่ ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, อ้อย, ไก่ไข่, ไก่เนื้อ, กุ้ง, สุกร และผลไม้

"ได้หารือกับรองนายกฯ กอร์ปศักดิ์ ถึงแนวทางและมาตรการที่กระทรวงจัดทำให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเสนอมาตรการดูแลสินค้าเกษตรด้วย พร้อมทั้งชี้แจงสถานการณ์สินค้าเกษตรที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดที่ขณะนี้ราคาตกต่ำและอาจเกิดการสวมสิทธิเกษตรกรเอาข้าวโพดจากที่อื่นมาเข้าโครงการรับจำนำจำนวนมาก โดยจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย"นางพรทิวา กล่าว

ทั้งนี้ ในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้จัดโครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตร โดยใช้งบประมาณราว 1.1 แสนล้านบาท สำหรับการพยุงรราคาสินค้าเกษตร 3 ประเภท คือ ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ซึ่งขณะนี้ยังเหลือวงเงินอีกราว 6 หมื่นล้านบาท

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สำหรับวงเงิน 63,300 ล้านบาทจะมีทั้งมาตรการแทรกแซงราคา, การจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรและมาตรการอื่น ๆ เช่น จัดทำไซโลเพื่อกระจายสินค้า โดยได้กำหนดวงเงินและแผนงานที่จะใช้ในสินค้าแต่ละรายการไว้แล้ว เช่น ข้าว จะใช้วงเงิน 30,000 ล้านบาท ปริมาณ 2.5 ล้านตัน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงิน 8,000 ล้านบาท ปริมาณ 1 ล้านตัน หรือราคาไม่ต่ำกว่า 7.50 บาท/ก.ก., ปาล์มน้ำมัน วงเงิน 9,000 ล้านบาท ปริมาณ 200,000 ตัน, ยางพารา วงเงิน 6,700 ล้านบาท ปริมาณ 130,000 ตัน ราคาไม่ต่ำกว่า 50 บาท/ก.ก.

"วงเงิน 63,300 ล้านบาทนั้น 10,000 ล้านบาทแรก จะใช้เชิงปฏิบัติการ เช่น สร้างไซโล เช่าโกดัง ส่วน 53,000 ล้านบาท เป็นเงินหมุนเวียนในโครงการรับจำนำ ซึ่งเป็นแผนงานที่ได้เตรียมไว้ พร้อมกับจะมีการจัดทำข้อมูลเตือนภัยสินค้าเกษตร เพื่อเข้าไปช่วยเหลือได้ทันเวลา" นายยรรยง กล่าว

พร้อมกันนี้ กรมการค้าภายในยังได้เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับ รมว.พาณิชย์ รับทราบ ซึ่งจะใช้วงเงิน 1,385 ล้านบาท ตามแผนจะขออนุมัติจากงบประมาณกลางเพิ่มเติมวงเงิน 100,000 ล้านบาทมาใช้ดำเนินการ ประกอบด้วย โครงการสร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพ(Farm Outlet) วงเงิน 350 ล้านบาท เพื่อรณรงค์การบริโภคและส่งเสริมการจำหน่ายใน 10 จังหวัด

โครงการศูนย์รวบรวมและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร (ข้าว, ข้าวโพด, ผัก, ผลไม้, หอม, กระเทียม)วงเงิน 480 ล้านบาท โครงการส่งเสริมตลาดกลางชุมชน วงเงิน 25 ล้านบาท, โครงการเพิ่มปริมาณการซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า วงเงิน 10 ล้านบาท, โครงการกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างจังหวัด วงเงิน 70 ล้านบาท, โครงการส่งเสริมกิจกรรมสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าจากโรงงานเพื่อผู้บริโภค(Factory Outlet)วงเงิน 300 ล้านบาท โครงการจ้างงานบัณฑิตอาสา วงเงิน 150 ล้านบาท

วันที่ 12 ม.ค.จะเชิญผู้ประกอบที่เกี่ยวข้องภาคสินค้าเกษตร 200 ราย มาประชุมเชิงปฏิบัติการ(Workshop) เพื่อหารือถึงแผนมาตรการในการดูแลสินค้าเกษตรอย่างเป็นระบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ