(เพิ่มเติม) รมว.คลังย้ำไม่ใช่จังหวะเหมาะลด VAT-ข้อเสนอลดภาษีเงินได้ยังต้องดูรอบคอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 9, 2009 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ย้ำว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมในการพิจารณาปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ส่วนข้อเสนอปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อให้อยู่ในระดับที่แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้นั้น ยังต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบก่อน

สำหรับการปรับลด VAT นั้น หลายประเทศได้ดำเนินการแล้วในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่พบว่าไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้เท่าที่ควร พร้อมมองว่าหากประเทศไทยจะปรับลด VAT เชื่อว่าจะไม่ส่งให้ราคาสินค้าปรับลดลงเท่าใดนัก อีกทั้งคงไม่สามารถเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนได้มากเท่าที่ควร ในทางกลับกันสิ่งที่จะได้รับผลกระทบชัดเจนกว่าคือรายได้ของภาครัฐที่จะลดลง

"บ้านเราภาษี VAT ก็ต่ำอยู่แล้ว ถ้าลดลงไปก็คงไม่ได้ส่งผลต่อราคาสินค้าให้ลดลงได้มากนัก หรือคงไม่ทำให้การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นมาก แต่ผลกระทบที่เห็นแน่ๆ คือรายได้ของภาครัฐที่ลดลง เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่จังหวะที่เหมาะ(ในการปรับลด VAT)"รมว.คลัง กล่าวในรายการโทรทัศน์เช้านี้

ขณะที่การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งในครั้งก่อนนั้น รมว.คลัง ยอมรับว่า พรรคฯ เคยเสนอไว้ว่าควรจะปรับลดจากระดับปัจจุบันที่ 30% ให้เหลือ 25% เพียงแต่สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ยังต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

นายกรณ์ กล่าวว่า แนวทาง 5 ข้อของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การใช้งบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย, การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณที่ผ่านการอนุมัติไปแล้ว, การใช้มาตรการภาษีเข้ามาดูแล, ดูแลการลงทุนของภาครัฐ โดยเข้าไปติดตามปัญหาและอุปสรรคของงบประมาณเพื่อให้ใช้ได้จริงและทำให้มีรอบหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนการใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาร่วมช่วยเหลือ

แม้ในปีงบประมาณ 52 การจัดเก็บรายได้รัฐบาลอาจจะต่ำกว่าเป้าหมายถึง 10% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากรายได้จากการจัดเก็บภาษี VAT และการจัดเก็บรายได้ของรัฐวิสาหกิจลดลง ส่งผลต่อความยืดหยุ่นของรัฐบาลในการตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 53 แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่มีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณในปีนี้ เพราะสัดส่วนของงบประมาณขาดดุลยังเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในวงเงิน 1.8 ล้านล้านบาท

"งบปีนี้ยังไม่มีปัญหา เพราะสัดส่วนของงบขาดดุลยังจัดได้ตามปริมาณงบใช้จ่ายที่กำหนดไว้เดิม 1.8 ล้านลบ. เพราะฉะนั้นการที่เราจะตั้งงบขาดดุล 2.5 แสนลบ.เดิม บวกงบกลางอีก 1 แสนลบ. รวมเป็น 3.5 แสนลบ. ก็ยังเพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้นได้" รมว.คลัง ระบุ

นายกรณ์ เชื่อว่า รัฐบาลยังมีเครื่องมือด้านการเงินที่เพียงพอสำหรับใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนอกจากการจัดทำงบประมาณขาดดุลของรัฐบาลที่คิดเป็นวงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาทแล้ว ยังจะมีงบประมาณในโครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรอีก 1.1 แสนล้านบาท และคาดว่าจะจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้เพิ่มเติมอีก นอกจากนี้ยังมีเงินที่จะกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างประเทศอีกทางหนึ่ง

"เครื่องมือของเรามีพอ ประกอบกับข้อดีที่เสถียรภาพทางการเงินการคลังของเรายังดีมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทั้งปริมาณหนี้, เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นเรื่องเสถียรภาพไม่มีประเด็นที่จะต้องกังวล และไม่มีกฎหมายที่ตีกรอบเรื่องการกู้ยืมเงิน ซึ่งภายใต้กรอบของกฎหมายยังมีความยืดหยุ่นให้รัฐบาลในระดับที่คิดว่าจะแก้ปัญหา(เศรษฐกิจ)ได้"รมว.คลัง กล่าว

สำหรับนโยบายการเงินโดยเฉพาะในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนั้น เห็นว่า วันนี้การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประเมินแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจออกมาในทิศทางที่สอดคล้องกับรัฐบาลแล้ว ก็เชื่อว่าการใช้นโยบายการเงินเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ