ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 14 ม.ค.จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกไม่น้อยกว่า 0.50% จากปัจจุบันที่ 2.75% มาอยู่ที่ 2.25% หรือต่ำกว่านั้น โดยเป็นผลมาจากความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีน้ำหนักเด่นชัดมากขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อได้ลดความน่ากังวลลงค่อนข้างมากแล้ว คงจะเอื้อให้ กนง.มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก
สำหรับความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีน้ำหนักเด่นชัดขึ้นนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มหดตัวลงในไตรมาส 4/51 ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งแรกของปี 52 ที่อาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกส่งผลกระทบต่อการส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งประเด็นการเมืองและความเชื่อมั่นที่ถดถอยยังคงกดดันการใช้จ่ายในประเทศ
ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อได้ลดความน่าวิตกลง โดยเห็นได้จากเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.51 ลดลงมาอยู่ที่ 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าต่ำสุดในรอบ 76 เดือน โดยเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่องและอาจอยู่ในระดับที่ติดลบได้ในบางเดือนของปีนี้ อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และ การต่ออายุ 6 มาตรการ 6 เดือนออกไปอีก
"แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่บรรเทาเบาบางลงชัดเจนนี้ น่าจะเอื้อให้ กนง.มีความยืดหยุ่นค่อนข้างมากหากจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่มีน้ำหนักชัดเจนมากขึ้น" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในทิศทางที่สอดคล้องกับทางการทั่วโลก การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากทางการไทย คงจะถูกฝากความหวังว่าจะสามารถช่วยฟื้นเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะที่ซบเซาไปได้โดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านเครดิตและความกังวลเรื่องสภาพคล่องทางการเงินของภาคธุรกิจที่ยังคงมีอยู่ ตลอดจนเสถียรภาพของรัฐบาล ยังคงเป็นประเด็นที่อาจทำให้กลไกการส่งผ่านและประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางภาวะที่ทุกภาคธุรกิจมีแนวโน้มจะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจด้วย