นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 ม.ค.นี้ จะพิจารณาการจัดทำงบกลางปีวงเงิน 1 แสนล้านบาทแล้วเสร็จ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรก หลังจากนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 ม.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเป็นมาตรการชุดที่ 2
ทั้งนี้ นอกจากจะมีมาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว จะมีมาตรการภาษีเพื่อลดภาระให้ผู้ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนด้วย
"มาตรการภาษีที่รัฐบาลจะออกมาใช้ถือเป็นการลดภาระให้ผู้ที่เดือดร้อน เพราะการโอนเงิน 1 บาทไปสู่ประชาชนจะส่งผลในเชิงบวกทางเศรษฐกิจมากกว่า แม้ความจำเป็นการใช้เงินภาษีของรัฐบาลจะยังมีอยู่ แต่รัฐบาลเองก็ต้องใช้เงินภาษีของรัฐเพื่อให้ได้ผลบวกทางเศรษฐกิจเช่นกัน" รมว.คลัง ระบุในระหว่างการพบปะกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก
สำหรับมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์นั้น ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะทำให้เกิดการจ้างงานสูง และส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในประเทศ หากกระตุ้นภาคอสังหาฯ ให้ขยายตัวได้จะเกิดผลดีในวงกว้างทั้งการจ้างงาน การส่งเสริมผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงการขยายสินเชื่อ
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังเตรียมออกกฎหมายการเงินอีก 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบัตรเครดิต และการทวงหนี้ เพื่อดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน โดยเห็นว่าปัจจุบันกฎหมายเดิมมีอำนาจในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตที่ยังไม่ชัดเจนและสร้างความไม่เป็นธรรม เช่น การดำเนินธุรกิจของ non bank, การกำหนดอัตราดอกเบี้ย, การให้บริการ รวมถึง การทวงหนี้
ร่างกฎหมายใหม่ทั้ง 2 ฉบับจะมีความชัดเจนมากขึ้นและสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เกิดผลดีต่อระบบ โดยเรื่องดังกล่าวกระทรวงการคลังเตรียมเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เร็วๆ นี้ ก่อนนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
"เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ค้างไว้ในสมัย สนช. มีการระดมความเห็นหลายรอบแล้ว และถือเป็นกฎหมายการเงินที่ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแล เป็นกฎหมายที่เข้ามาดูแลทั้งการทวงหนี้ที่ต้องรักษาเกียรติและสิทธิของลูกหนี้ ขณะเดียวกันการถือบัตรเครดิตของลูกค้าควรกำหนดชัดเจนว่าควรมีกี่ใบ" นายกรณ์ ระบุ
สำหรับการหารือกับมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) วานนี้ที่เสนอแนะไม่ให้กระทรวงการคลังแทรกแซงการดำเนินนโยบายของแบงก์รัฐนั้น นายกรณ์ ยืนยันว่า จะไม่แทรกแซงการทำงานของแบงก์รัฐ แต่อาจจะเพียงแค่ส่งสัญญาณเท่านั้น เช่น การที่แบงก์รัฐซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐต้องมีการดำเนินการในทิศทางเดียวของรัฐบาล ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงการทำงาน และการที่มีตัวแทนจากกระทรวงการคลังเป็นกรรมการในแบงก์รัฐและแสดงความคิดเห็น ถือเป็นการทำงานตามหน้าที่โดยชอบธรรมอยู่แล้ว
นายกรณ์ กล่าวถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศว่า จะดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและรักษาระดับรายได้ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนการตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจถือเป็นเพียงตัวเลข แต่รัฐบาลยืนยันว่าจะใช้ทุกเครื่องมือที่มีอยู่เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอและไม่เป็นภาระการคลัง
พร้อมยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจที่น่าห่วงคือ กำลังซื้อของประชาชน, การเลิกจ้างแรงงาน, ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำที่ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง รวมถึงปัญหาหนี้สินประชาชน ขณะเดียวกันมองว่าการผลักดันให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบจะมีส่วนช่วยในการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
รมว.คลัง ยืนยันว่า การดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลจะไม่สร้างภาระให้กับประชาชนจนเกิดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น เนื่องจากนโยบายและมาตรการที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาจากงบประมาณของรัฐบาลเป็นหลัก แม้ว่าอาจจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่มั่นใจว่ายังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับต่ำ และเป็นโอกาสดีที่ทำให้รัฐบาลใช้นโยบายที่ยืดหยุ่นมากขึ้นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
นายกรณ์ ยังเปิดเผยว่า ตั้งแต่นี้จะจัดให้มีการเวที"ศุกร์เศรษฐกิจกับรัฐมนตรีกรณ์"เพื่อรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วนและแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อใช้ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และการกำหนดแผนปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งครั้งแรกประเดิมการพบปะกับสื่อมวลชน จากนั้นในสัปดาห์ต่อ ๆ ไปจะจัดเวทีพบปะกับนักธุรกิจ เกษตร ข้าราชการ หรือนักวิชาการ เป็นต้น